“จีน-ฝรั่ง” จีบลงทุนถุงมือยาง บุกอีอีซี-ออร์เดอร์ทะลักปี 65

พิษโควิด-19 ดันดีมานด์ถุงมือยางพุ่ง ออร์เดอร์ทะลักถึงปี65 ทุนต่างชาติ “เยอรมนี-สหรัฐ-ยุโรป-จีน” เล็งเข้าลงทุนทุกรูปแบบ ทั้งเข้าถือหุ้น-ร่วมทุนขยายโรงงาน-เทกโอเวอร์-ตั้งโรงงานใหม่ เผยทุนอังกฤษหอบเงิน 2.6 พันล้านบุกอีอีซี จี้รัฐปลดล็อกเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ-เร่งออกใบ รง.4-ให้สิทธิ BOI

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการคุมเข้มด้านสุขภาพอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยาง เห็นได้จากขณะนี้ได้มีกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศทั้งจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) เยอรมนี จีน รวมแล้วกว่า 10 ราย แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยางในประเทศไทย โดยหลายรายติดต่อประสานงานมายังตนในฐานะนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางฯ และ กนย.

ทุนอังกฤษหอบเงินลงทุน EEC

โดยเฉพาะนักลงทุนจากอังกฤษระบุว่า มีเม็ดเงินพร้อมนำมาลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,600 ล้านบาท โดยแจ้งความประสงค์จะลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถเข้ามาเจรจาหรือศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังคุมเข้มไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักลงทุนยินดีปฏิบัติตามระเบียบมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 อย่างการให้กักตัวกักกันโรค 14 วัน เป็นต้น

“ตลาดถุงมือยางขณะนี้มีออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีการประสานงานมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยางผ่านมาทางผมกว่า 10 กลุ่ม จากอังกฤษ สหรัฐ จีน เยอรมนี อียู ฯลฯ” นายอุทัยกล่าว

ออร์เดอร์ทะลักถึงปี”65

ส่วนหนึ่งมาจากถุงมือยางเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขณะนี้ เห็นได้จากมีออร์เดอร์จองล่วงหน้าถึงปี 2565 ตนในฐานะกรรมการ กนย.จึงได้แจ้งเรื่องนี้ต่อรัฐบาล และเสนอให้มีมาตรการผ่อนปรน คือ 1.เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 มีการกักตัว 14 วัน 2.อำนวยความสะดวกในการออกในอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4)

3.อำนวยความสะดวกในการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 4.การให้สิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ 5.กำหนดเงื่อนไขให้การลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยางต้องใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศไทย ไม่ใช้ยางสังเคราะห์

ดันราคายาง-ประหยัดงบฯรัฐ

“ถ้าหากการลงทุนเกิดขึ้นจริง เมื่อมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยาง จะมีการสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ยางพาราไหลออกจากตลาด ราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลบริหารจัดการนโยบายประกันรายได้ชาวสวนยางได้ง่ายขึ้น ประหยัดงบประมาณได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท”

ส่วนที่ห่วงว่าหากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศไทยจำนวนมาก เมื่อสิ้นสุดโควิด-19 ถุงมือยางจะล้นตลาดนั้น ข้อนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยางแต่ละรายคงวิเคราะห์สถานการณ์การตลาดมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางในครัวเรือน ตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนในโรงงานอุตสาหกรรม หรือหากความต้องการตลาดลดน้อยลงก็อาจแปลงสภาพไปแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้

ทุกรูปแบบ “ซื้อหุ้น-เทกโอเวอร์”

นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) จำกัด และอดีตกรรมการ กนย. เปิดเผยว่า ได้รับทราบข้อมูลเช่นเดียวกันว่า มีนักลงทุนจากจีน สหรัฐ และยุโรป ต้องการเข้ามาเจรจาการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยางจากยางธรรมชาติในประเทศไทยหลายราย

โดยการเข้ามาลงทุนจะมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเข้าซื้อหุ้นในกิจการอุตสาหกรรมถุงมือยางจากนั้นจะลงทุนขยายโรงงาน การเข้าเทกโอเวอร์โรงงาน แต่บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยางในไทยยังไม่ตอบรับ ล่าสุดคือโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยางที่ จ.กระบี่ ส่วนจะเข้ามาลงทุนจริงหรือไม่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ราคาถุงมือยาง และความต้องการของตลาดโลกในระยะยาวว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ชี้ราคาน้ำยางสดลดลงสวนทาง

ในอดีตโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยางมีอยู่ปริมาณมากหลักร้อยโรงงาน ต่อมาทยอยเลิกกิจการไป ปัจจุบันตัวเลขน่าจะเหลือหลักสิบโรงงานเท่านั้น แต่จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ถุงมือยางมีความสำคัญ และกลายเป็นสิ่งจำเป็น จึงมีความต้องการในตลาดสูง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยางที่มีอยู่ขณะนี้ทยอยลงทุนขยายโรงงานรองรับดีมานด์

นายเพิกกล่าวว่า ในภาพรวมแม้การใช้ถุงมือยางจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นถุงมือยางจากธรรมชาติประมาณ 30% ขณะที่ตลาดที่ใช้ถุงมือยางจากยางสังเคราะห์จะมีสัดส่วนมากกว่าที่ 70% ปกติการใช้ถุงมือยางจากยางธรรมชาติมีประมาณ 1,000 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็น 2,000 ล้านชิ้น แต่ถุงมือยางสังเคราะห์ความต้องการใช้อยู่ที่ 10,000 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 20,000 ล้านชิ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ความต้องการถุงมือยางในตลาดจะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ราคาน้ำยางซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางไม่ได้ขยับขึ้นตาม ขณะนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 38-39 บาท/กก.เท่านั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วน่าจะอยู่ที่ 45 บาท/กก.