1 ส.ค. นี้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่บังคับใช้ “พาณิชย์” เร่งสร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เผยแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 พร้อมเดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่ที่จะมีผล 1 สิงหาคม นี้  พร้อมกันนี้กรมเจรจาฯ เตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมายสําคัญ 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เพราะจะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมครบทั้งการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น แก่นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 225,915 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 109,835 ล้านเหรียญสหรัฐ และนําเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 116,080 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไปอาเซียน มูลค่า 20,356 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2563 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดเพชรบุรี โดยเปิดพื้นที่ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และราชบุรี นำสินค้าเกษตรคุณภาพมาจัดแสดงและจำหน่ายรวม 20 บูธ เช่น น้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวทับสะแก สับปะรดเหลืองสามร้อยยอด นมอัดเม็ดจากสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ ผ้าเขียนลายทอง ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากป่านศรนารายณ์ เครื่องสำอาง และเกลือทะเลขัดผิวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

อีกทั้ง ยังมีเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง ช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ ขยายตลาดส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอกับประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกจากไทยแล้ว ตลอดจนแนะนำช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งวัน อาทิ กิจกรรมนาทีทอง และกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามพร้อมรับของรางวัล

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีมูลค่า 10,829.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้าหลายรายการสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 อาทิ ผลไม้ มูลค่า 2,253.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 สินค้าผัก/ผลไม้แปรรูป มูลค่า 1,105.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 และสินค้าปศุสัตว์ มูลค่า 2,264 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.46