รมว.เกษตรฯ เตรียมชงประกันรายได้สวนยางเฟส 2 ตุลาคมนี้

เฉลิมชัย เดินเครื่องรับเบอร์วัลเลย์ จ.นครศรีฯ ตั้งโรงงานถุงมือยาง พร้อมไปต่อประกันรายได้ยางเฟส 2 ตุลานี้

รัฐมนตรีเกษตรฯ พบปะเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สนับสนุนแนวคิด Rubber Valley แหล่งธุรกิจยางพาราภูมิภาคอาเซียน ลั่นไปต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ภายใน ต.ค. นี้ แน่นอน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดงานกิจกรรม กยท. สัญจร พบปะเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ณ การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ว่าสถานการณ์ราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ไทยเป็นประเทศที่ยังคงรักษาสถานะผู้นำการผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพในการแข่งขันด้านยางพาราในระดับโลกและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้สูงขึ้น ตลอดจนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยางและเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศ

ดังนั้น แนวคิด Rubber Valley ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช มีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ปลูกยาง จำนวน 1,766,025 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพชาวสวนยาง มีตลาดกลางยางพาราในการประมูลซื้อขายยางพาราอยู่ในพื้นที่ ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางการค้าที่สำคัญของภาคใต้ เป็นแหล่งที่ตั้งของโรงงานผลิตภัณฑ์ยางชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งเหมาะสมในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งธุรกิจยางพาราภูมิภาคอาเซียน

“รัฐบาลพร้อมสนับสนุนธุรกิจยางพารา โดยสนับสนุนให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งระดับทั่วไปจนถึงระดับสูง ส่งเสริมการลงทุนในอันที่จะสร้างการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะส่งเสริมเทคโนโลยีของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางให้สามารถแข่งขันได้ และให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการน้ำยางข้น กยท. พร้อมผลักดันการใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ยางเฉพาะกลุ่มหรือ Niche Market เพื่อหลีกเลี่ยงตลาด Mass Product ที่กำลังถูกอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งขันที่มีต้นทุนต่ำกว่า เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ”

ประกอบกับ ใช้นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้านระบบตลาดนำการผลิต เพิ่มช่องทางการขาย ลดต้นทุนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพของปุ๋ย ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานระหว่างการค้า การลงทุน แบบ online และ offline ควบคู่กันไป โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วย

อย่างไรก็ตาม การยางแห่งประเทศไทยต้องมีการวางแผนดำเนินการ ดูทิศทาง และเข้าไปดูในเรื่องของการขาย ซึ่ง กยท. เองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น ต้องทำงานในลักษณะเชิงรุก อาทิ การเข้าไปเป็นผู้เจรจาค้าขายเอง และเป็นผู้ร่วมลงทุนเอง ตามที่กฎหมายเปิดช่องทางให้ดำเนินการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยให้ราคายางพาราสูงขึ้น และสามารถเป็นตัวกำหนดราคายางพาราของโลกได้

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อมั่นว่าจะมีนักธุรกิจมาลงทุนกับสินค้ายางพาราเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ยังมียอดค้างอยู่ประมาณ 2,400 ล้าน ซึ่งจะนำเรื่องเข้า ครม. ต่อไป ส่วนระยะที่ 2 มีการประชุมประกันราคายางกับการยางแห่งประเทศไทยแล้ว โดยจะนำเสนอเข้า ครม.คาดว่าจะเกิดโครงการประกันรายได้ยเกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน” นายเฉลิมชัย กล่าว