EEC สายตรง 50 ซีอีโอจีน ดึงลงทุนแก้ปมพิษโควิดชะลอ 6 เดือน

วิกฤตโควิด-19 กระทบมหาโปรเจ็กต์อีซีซีชะลอ 6 เดือน “คณิศ” ย้ำไม่กระทบแผนลงทุน เผย “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 50 ซีอีโอจีน” ขยายฐานมาไทย เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานแสนล้านปี 2564 แก้ปัญหาแหล่งน้ำ รีสกิลแรงงาน 5 แสนคนรับ 12 อุตสาหกรรม ประสาน “บีโอไอ” ทูตไทยทั่วโลกดึงต่างชาติปักหมุด เร่งพัฒนา 4 แกนหลัก “5G-โลจิสติกส์-สุขภาพ-สมาร์ทซิตี้” จุดขายใหม่ประเทศไทย

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอีอีซี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ระยะเวลา 5 ปี (2560-2565) มูลค่า 1.5-1.7 ล้านล้านบาท ทำให้ล่าช้าไป 6-7 เดือน แต่ยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้แล้ว โดยขณะนี้สามารถดำเนินการได้ 6.5 แสนล้านบาท หรือ 50% ในระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 60,000 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.4 แสนล้านบาท สนามบิน 2.9 แสนล้านบาท และท่าเรือมาบตาพุด 20,000-30,000 ล้านบาท

“จากนี้จะเดินหน้าต่อตามแผนที่วางไว้ โดยปีนี้จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 9,000 ล้านบาท คือมีสนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบังบางส่วน และในปี 2564 จะลงทุนอีก 90,000 ล้านบาท เช่น ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้แย่งใช้งบประมาณรัฐบาลอย่างที่เข้าใจ เช่น เงินลงทุนโครงการรถไฟ กรอบวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ก็ใช้เงินแค่ 1.7 แสนล้าน หรือการลงทุนสนามบิน 2.9 แสนล้านบาท ก็ได้ค่าต๋งจากเอกชนมา 3.5 แสนล้านบาท หักลบแล้วไม่ได้แย่งงบฯแต่อย่างใด เพราะใช้รูปแบบการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมกับเอกชน หรือ PPP”

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จีดีพีจะติดลบ -8% โดยประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากโควิด-19 เป็นมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งกรณีอีอีซีจะลดเยอะหน่อย 10% เพราะนักลงทุนเข้ามาไม่ได้ แต่เชื่อว่าไทยพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 ที่ติดลบ -14% จากนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการได้ดีแค่ไหน เพราะยังมีบางอุตสาหกรรมที่ดี เช่น ปิโตรเคมีคอล และภาคเกษตร เนื่องจากโชคดีที่ประเทศจีนฟื้นกลับมาได้ทันในช่วงที่ผลผลิตทางการเกษตรของไทยออกสู่ตลาดเดือนพฤษภาคม ทำให้ยังสามารถส่งผลไม้ไปได้ โดยเฉพาะทุเรียนยังได้ราคาสูง แต่ภาคการท่องเที่ยวคงกลับมาไม่ทันในปีนี้

“เรามีเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.3 แสนล้านบาท ธุรกิจการบินคงฟื้นปลายปีหน้า และผลกระทบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งลดการผลิตจาก 2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน”

ถก 50 ซีอีโอบริษัทจีน

ดร.คณิศกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าได้ประสานกับแบงก์ ICBC จัดการประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับ 50 ซีอีโอบริษัทจากจีนที่มีแผนขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงโควิด-19 การประชุมออนไลน์ถือว่ามีประสิทธิภาพมาก เพราะทำให้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับบรรดาซีอีโอบริษัทต่าง ๆ ได้โดยตรงมากขึ้น

จับมือบีโอไอดึงธุรกิจระดับโลก

สำหรับการประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจในต่างประเทศเข้ามาลงทุนนั้น ดร.คณิศกล่าวว่า ใน พ.ร.บ.อีอีซีระบุว่า อีอีซีสามารถดูแลให้สิทธิประโยชน์กับภาคธุรกิจได้ เท่ากับที่บีโอไอให้ และให้ได้เท่ากับที่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถให้ได้

“เราจะคุยกับบีโอไอว่าตรงนี้คุณให้แล้ว เราไม่ต้องยุ่ง แต่ตรงไหนที่บีโอไอไม่ค่อยอยากให้ หรือให้แล้วไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อีอีซี ก็จะพยายามดูว่า พ.ร.บ.เราให้ได้หรือไม่ หลักการคือต้องมีเป้าหมายว่าอยากได้อุตสาหกรรมอะไร”

ขอแรงทูตเคาะประตูธุรกิจ

ดร.คณิศกล่าวอีกว่า ตอนนี้อีอีซีไม่มีความประสงค์จะมีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ จึงได้ขอให้ทูตที่อยู่ต่างประเทศทั่วโลกช่วยกันหาธุรกิจ โดยทางอีอีซีจะส่งลิสต์รายชื่อบริษัทที่อยากได้ให้ทางทูต จากนั้นทูตจะดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1.เพิ่มชื่อบริษัทที่เห็นว่าควรจะมาลงทุนในประเทศไทย และ 2.ติดต่อบริษัทเหล่านี้เพื่อให้อีอีซีพูดคุยและดึงมาลงทุน

“เราจะเข้าไปเจรจาว่า ถ้าเขาอยากจะลงทุน เขาอยากได้อินเซนทีฟแบบไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง เราจะได้เริ่มเจรจาเป็นราย ๆ ไป เรื่องสิทธิประโยชน์ถือว่าเริ่มจากศูนย์ ค่อยมาดูว่าเขาอยากจะได้อะไร อะไรให้ได้หรือไม่ได้”

ดีลหัวเว่ย-กูเกิล-เฟดเอ็กซ์

ดร.คณิศเผยว่า กระบวนการนี้จะเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นและเร็วขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ 5จี ซึ่งรัฐบาลได้ติดต่อไปเกือบหมดแล้ว ตั้งแต่หัวเว่ยจากจีน รวมถึงไมโครซอฟท์ กูเกิล และวีเอ็มแวร์ ในสหรัฐอเมริกา หลัก ๆ จะเน้นการลงทุนที่สามารถสร้างคนและธุรกิจให้ประเทศได้ ส่วนธุรกิจด้านโลจิสติกส์ มียูพีเอสและเฟดเอ็กซ์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจด้านเมดิคอลฮับ ซึ่งได้คุยกับบริษัทในจีน และอังกฤษไว้แล้ว

ปั้น 4 แกนหลักสู้เวียดนาม

ดร.คณิศมั่นใจว่า ยุทธศาสตร์การดึงดูดการลงทุนของไทยในระยะยาวยังแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม หรือมาเลเซียได้ แม้เพื่อนบ้านจะมีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี เช่น CPTPP ซึ่งไทยไม่ได้เข้าไป โดยมีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์, ดิจิทัล อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากร และการศึกษา เป็นต้น

“ในช่วงที่ผ่านมามีโอกาสวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับซีอีโอบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกพบว่า ทุกคนสนใจที่จะมาลงทุนเกี่ยวกับ 5G ในบ้านเรา ซึ่งถือว่าเซอร์ไพรส์มาก ทั้งจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ทำให้เห็นว่าการประมูล 5G และข้อกำหนดที่ กสทช.ให้ผู้ประกอบการขยายเครือข่ายในพื้นที่ EEC เปรียบได้กับการต่อท่อประปาไว้ ส่วนใครจะต่อก๊อกมีธุรกิจมาเชื่อมกับ 5G ก็ทำได้ ซึ่งถ้าผลักดันการลงทุนได้ ก็จะทำให้เมืองไทยมีฐานอุตสาหกรรม 5G”

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้าน 5G แล้ว อีอีซีจะมุ่งไปยังการส่งเสริมในอีก 3 แกนหลัก คือ โลจิสติกส์, สุขภาพอนามัย (sanitary) และการพัฒนาเมืองใหม่

“พอทำสนามบินเสร็จ ก็จะมีคนมาคุยกับเราเรื่องโลจิสติกส์เยอะ จากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ กรณีอาลีบาบาก็เรียบร้อยแล้ว รอตัดริบบิ้นอย่างเดียว คนอื่นก็จะตามมา การทำสนามบินอู่ตะเภาก็จะเน้นธุรกิจคาร์โก้ก่อน เพราะได้เงินเร็ว เป็นอะไรที่รับรองได้ว่าเกิดแน่ และอยากเห็นคนไทยมาลงทุน ส่วนเรื่องระบบ sanitary ขณะนี้มีกระแสว่า บริษัทจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปอเมริกาได้ ก็จะย้ายมาไทย ก็เป็นจุดเริ่มที่จะดึงอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์เข้ามา ส่วนการพัฒนาเมืองใหม่ก็เพื่อรองรับแรงงานที่จะเคลื่อนย้ายมาทำงานในอีอีซี”

ทีมเศรษฐกิจใหม่ไม่กระทบอีอีซี

ดร.คณิศกล่าวว่า การเปลี่ยนรัฐมนตรี หรือทีมเศรษฐกิจ ไม่มีผลต่อโครงการอีอีซี เนื่องจากมีกฎหมายดูแลเฉพาะ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อมีปัญหาก็รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนทีมเศรษฐกิจใหม่ ทั้งรัฐมนตรีคลัง คุณปรีดี ดาวฉาย และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ก็ถือเป็นผู้ที่คุ้นเคย และเข้าใจความสำคัญของอีอีซี

ดึง 5 แสนคนต่อยอดพัฒนาฝืมือ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยตนเห็นว่าควรเปลี่ยนวิกฤตจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้แรงงานตกงานจำนวนมาก มาใช้เป็นโอกาสในการ “รีสกิล” หรือพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความต้องการ

“หากเป็นไปได้จะดึงแรงงาน 4-5 แสนคน เข้ามาพัฒนาฝีมือ ต่อยอดจากโครงการเดิมที่ทำร่วมกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เราเรียนท่านนายกฯเป็นโอกาส เพราะเดิมเราเทรนคนไม่ทัน ถ้านำคนที่ตกงาน 4-5 แสนคน มาเทรนทีเดียว ก็จะเป็นประโยชน์ได้ อย่าไปคิดโควิดมีแต่เนกาทีฟ หรือคิดว่าเศรษฐกิจก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ดี การเทรนคนเป็นเรื่องสำคัญ แรงงานไม่ค่อยมีอยู่แล้ว ถือโอกาสทำซะ เราทำกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เราใส่เงินเข้าไป 30-50 ล้านบาท ขอสภาพัฒน์อีก 120 ล้านบาท”

สำหรับการฝึกอบรมจะใช้หลักสูตรระยะสั้น 1-3 เดือน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยช่างในการจัดทำหลักสูตรสำหรับอุตสาหกรรม

“เอกชนและรัฐออกคนละ 50% แถมเอกชนนำไปหักภาษีได้อีก ก็เหลือจ่ายจริง ๆ แค่ 25% แต่มีเงื่อนไขว่าต้องจ้างงานคนเหล่านี้ 6 เดือนอย่างต่ำ อนุมัติไปแล้ว 80 หลักสูตร ในสมัย รมว.อุตตม อดีต รมว.คลัง และนายสุวิทย์ อดีต รมว.อว. ก็ฝึกอบรมไปได้ปีละ 10,000 คน แต่ปีหน้าเตรียมของบประมาณ มีเป้าหมายฝึกอบรม 20,000 คน”

ปลดล็อกปัญหาแล้งอีอีซี-ขยะ

ดร.คณิศกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อีอีซีด้วยว่า ได้มีการดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับผิดชอบดูแล ได้ลงพื้นที่พร้อมทั้งบริหารจัดการทุก 2 สัปดาห์ โดยมีนโยบาย 5 ด้าน คือ 1.บริหารจัดการใช้น้ำตลอดทั้งปี ทุก 2 สัปดาห์ห้ามการ์ดตก ตั้งอนุกรรมการบริหารน้ำ 2.สนับสนุนให้สูบน้ำกักเก็บในแหล่งน้ำปัจจุบัน อย่าปล่อยน้ำจืดลงทะเล

3.หนุนเอกชนขุดบ่อไว้เอง นิคมอุตสาหกรรมใหม่ต่อไปนี้ห้ามพึ่งแหล่งน้ำเดิม ต้องมีแหล่งน้ำของตัวเอง 4.ประปาชุมชน ประปาในหมู่บ้าน ให้เอกชนหาวิธีทำโมดูลพิเศษเพื่อทำซัพพลาย 5.โครงการผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืด แต่ที่สำคัญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยการประหยัด ลดการใช้น้ำโดยใช้หลัก 3R ด้วย

เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาขยะ มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ 2 โรง ซึ่งโรงที่ 2 กำลังจะเปิดประมูล โรงแรกที่ จ.ระยอง รับได้ 500 ตัน/วัน เป็นการร่วมลงทุนระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับ ปตท. และยังต้องการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าขยะอีก 3-4 โรงงาน จากปัจจุบันกำจัดได้ 40%