ธุรกิจปิดตัว-หนี้เสีย-ตกงานพุ่ง สภาพัฒน์ห่วง “อาชีพอิสระ” 16 ล้านคน

คนจนแฟ้มภาพขณะมารอยื่นทบทวนสิทธิ์ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน
File Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ผลกระทบจาก “โควิด-19” ทุบเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ดิ่งลึกถึง -12.2% ต่อปี ใกล้เคียงกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจหดตัว -12.5% ต่อปี ส่งผลให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ประเมินปี 2563 ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวอยู่ที่ -7.5% ต่อปี (คาดการณ์ระหว่าง -7.8 ถึง -7.3%) จากเดิมที่คาดหดตัว -5.5% ต่อปี

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เศรษฐกิจที่หดตัวในไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเศรษฐกิจโลก เนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 กดดันต่อภาวะเศรษฐกิจไทย “เต็มไตรมาส” และจะเป็นไตรมาสที่ “ต่ำสุด” ของปีนี้แล้ว แต่ยังไม่ถือเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากยังติดลบน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยหดตัว -9.7% โดย สศช.คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 3-4 นี้ไปเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ จากความหวังเรื่อง “วัคซีน” ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ (เปิดเมือง) การเบิกจ่ายของภาครัฐ และการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

“สศช.ประมาณการจีดีพีไทยทั้งปีนี้จะหดตัวอยู่ที่ -7.5% โดยจะอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งการระบาดน่าจะอยู่ในวงจำกัดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และไม่มีการระบาดรุนแรงรอบ 2 เกิดขึ้น”

อุ้ม “เอสเอ็มอี” ป้องกันหนี้เสียลาม

โดยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไตรมาส 2 “หดตัวแทบทั้งสิ้น”ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว -6.6% การลงทุนรวมหดตัว -8% การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวสูงถึง-28.3% การนำเข้า -23.3% ด้านการผลิตภาคเกษตรหดตัว -3.2% ส่วนการผลิตนอกภาคเกษตรหดตัว -12.9% ขณะที่ในภาคบริการหดตัวสูงถึง -12.3%

มีเครื่องยนต์เดียวที่ช่วยพยุงก็คือ การอุปโภคภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้น 1.4% และการลงทุนภาครัฐที่โต 12.5% เนื่องจากมีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และการใช้เม็ดเงินเยียวยาประชาชนฐานรากวงเงิน 5,000 บาทต่อเดือน

“ตัวแปรเหล่านี้จะเป็นตัวพยุงจีดีพีปีนี้ต่อไปได้ เนื่องจากรัฐบาลยังมีวงเงินกู้ที่เหลืออยู่อีกกว่า 3 แสนล้านบาทในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ”

เลขาธิการ สศช.ระบุว่า แนวทางในการบริหารเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปีต้องโฟกัสมาตรการต่าง ๆ ที่ออกไปแล้ว เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนจากวงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาทที่อนุมัติแล้ว ต้องเร่งรัดการดำเนินการให้ถึงกลุ่มเป้าหมายและต้องไม่ให้หนี้เสีย (NPL) ในภาคธุรกิจลามไปถึงสถาบันการเงินได้

นอกจากนั้น ภาคธุรกิจที่ยังมีปัญหาการฟื้นตัว อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็จะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษต่อไป รวมไปถึงการขับเคลื่อนการส่งออก ปัญหาด้านภัยแล้งและการจัดการน้ำ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร และคงต้องดูแลบรรยากาศทางการเมืองในประเทศด้วย เพราะหากเกิดความวุ่นวายจะเกิดปัญหาซ้ำเติมเศรษฐกิจได้

จีดีพีของประเทศ ไตรมาส2/2563

รับมือเสี่ยงตกงานอีก 1.7 ล้านคน

นายทศพรกล่าวว่า สถานการณ์จ้างงานในไตรมาส 2 ผู้มีงานทำมีจำนวน 37.1 ล้านคน ขณะที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 7.5 แสนราย คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากอัตราว่างงานปกติ และเป็นอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2552 โดยสาเหตุหลักของการว่างงานมาจากสถานที่ทำงานเลิกจ้าง/ปิดกิจการ หรือหมดสัญญาจ้าง

โดยมีแรงงานในภาคเกษตรว่างงานเพิ่มขึ้น 0.3% และนอกภาคเกษตรกรรมว่างงานเพิ่มขึ้น 2.5% โดยกลุ่มนอกภาคเกษตรกรรม พบว่าแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดคนงานมากที่สุดเพิ่มขึ้น 6.3% ขณะที่ฝั่งการผลิตและสาขาโรงแรม-ภัตตาคารว่างงานเพิ่มขึ้น 4.4% และ 2.8% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ว่างงาน 7.5 แสนรายดังกล่าวเป็นตัวเลขโดยรวม ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผู้ขอใช้สิทธิรับประโยชน์กรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 33 พบว่ายังมีทั้งสิ้นแค่ 4.2 แสนราย อย่างไรก็ดี แรงงานในระบบที่ตกอยู่ในความเสี่ยงว่างงานในอนาคตมีทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน เนื่องจากคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้มีงานทำ แต่สถานประกอบการประสบเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ซึ่งก็มีการปรับลดเงินหรือรายได้ลง

“ดังนั้น ภาพรวมผู้ตกงานจึงน่าจะอยู่แค่ 2.18 ล้านราย สำหรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดคนตกงานสูงถึง 8 ล้านรายนั้น จะเกิดขึ้นในกรณีการระบาดโควิด-19 ลากยาวและมีความรุนแรงจนต้องปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เราเป็นห่วงมากก็คือ กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ 16 ล้านคน ซึ่งยังได้รับผลกระทบอยู่ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา บางธุรกิจปิดตัวลงจึงต้องหามาตรการเพื่อช่วยเหลือต่อไป”

“หนี้ครัวเรือน” นิวไฮ-เอ็นพีแอลพุ่ง 23%

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวด้วยว่า ในด้านหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 80.1% ในไตรมาสแรกปีนี้ “สูงสุดในรอบ 4 ปี” โดยมีมูลค่าถึง 13.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% ขณะที่คุณภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ ไตรมาส 1/2563 แตะ 1.56 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นถึง 23.6% คิดเป็นหนี้เสียต่อหนี้สินรวมทั้งหมด 3.23% เพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า

“หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นแต่เป็นสัดส่วนที่ยังรับได้ ซึ่งมองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้เมื่อเศรษฐกิจภาพรวมกลับมาฟื้นตัวขึ้น” นายทศพรกล่าว

แอร์ไลน์เจ๊งดันหนี้เสียธุรกิจขยับ

ขณะที่ นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 3.09% โดยมียอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5.09 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3.04% ซึ่งมียอดคงค้างอยู่ที่ 4.96 แสนล้านบาท ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าเอ็นพีแอลน่าจะทรงตัว หรือปรับเพิ่มขึ้นได้อีกเล็กน้อย

“เอ็นพีแอลที่ขยับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ที่สำคัญมาจากธุรกิจสายการบินขนาดใหญ่รายหนึ่งที่หนี้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ทำให้เอ็นพีแอลภาพรวมของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระยะข้างหน้าคงไม่แตกต่างไปจากตอนนี้มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน และธนาคารพาณิชย์ก็มีวิธีบริหารจัดการหนี้ เช่น การตัดหนี้สูญ หรือการปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะจุดมากขึ้น”

โดยพบว่า “สินเชื่อธุรกิจ” เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ 3.07% จาก 2.97% ในไตรมาสแรก ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคเอ็นพีแอลปรับลดลงทุกประเภทสินเชื่อ ผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ

“หลายคนห่วงว่าหลังหมดมาตรการจะเกิดการตกหน้าผา ซึ่งเราคุยกับแบงก์ต่อเนื่อง จะเห็นการแก้หนี้ที่เป็นระบบ แม้จะหมดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค. ก็จะเห็นแบงก์ช่วยเหลือต่อเนื่องแต่จะเป็นรูปแบบใดขึ้นอยู่กับสภาพลูกหนี้ ซึ่งจากเดิมจะเป็นมาตรการแบบเหมาโหล มาเป็นมาตรการช่วยเหลือเจาะจงมากขึ้นทำให้การเสื่อมสภาพของหนี้คงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก” นายธาริฑธิ์กล่าว

นี่คือสภาพปัญหาเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญ และปัญหาหลายอย่างอาจรุนแรงมากขึ้น หลังจากนี้ ภาครัฐคงจะต้องเร่งออกมาตรการมาดูแลอย่างถูกจุด เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล