เปิดแผนแก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา ม.เกษตรแนะ 9 โปรเจ็กต์งบ 3.4 แสนล้าน

น้ำท่วม กรุงเทพ ปี 2554
(file.) SAEED KHAN / AFP

ม.เกษตรฯ เปิดแผนจัดการน้ำ บรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา 9 บิ๊กโปรเจ็กต์กว่า 3 แสนล้าน ระบายน้ำ-รับน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยากว่า 870 ลบ.ม. พร้อมกักเก็บน้ำช่วงฤดูฝน หลังคิกออฟแล้ว 1 โครงการ ชัยนาท-ป่าสัก ควบคู่ป่าสัก-อ่าวไทย ขอเวลาแค่ 7 ปีแก้น้ำท่วมซ้ำซากภาคกลาง-กทม.

นายณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลการศึกษาแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ภายใต้แผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาตอนล่าง 9 โครงการ มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รับน้ำได้เพิ่มขึ้นกว่า 870 ลบ.ม. ว่าโครงการที่ควรดำเนินการในปี 2564-2570 เพื่อป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างและ กทม.อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

1.ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันออกเจ้าพระยา วงเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท

2.คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก 3.4 หมื่นล้านบาท

3.ระบบโครงข่ายฝั่งตะวันตกเจ้าพระยา 4.2 หมื่นล้านบาท

4.เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำเจ้าพระยา 2.5 พันล้านบาท

5.บริหารจัดการพื้นที่นอกคันเจ้าพระยา 4.1 พันล้านบาท

6.เพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำท่าจีน 2.6 พันล้านบาท

7.พื้นที่รับน้ำนอง 12 ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

8.คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 2.1 หมื่นล้านบาท

9.คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย 6.5 หมื่นล้านบาท

“ในปีงบประมาณ 2564 มีแผนงานก่อสร้างใหม่เพื่อให้ทันสถานการณ์ ล่าสุดผ่านการศึกษาความเหมาะสม พิจารณา EIA ออกแบบเเล้วเสร็จ 2 โครงการ คือ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรและคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย6.5 หมื่นล้านบาท คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 อีกมูลค่า 9.3 หมื่นล้านบาท และเพิ่มคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-คลองเชื่อมวงแหวน 3-อ่าวไทย 1 หมื่นล้านบาท โดยได้ดำเนินการขุดปลายคลอง 3.79% คาดว่าจะเสร็จปี 2570”

ทั้งนี้ จากการศึกษาเมื่อจัดเรียงลำดับตามแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอิงกรณีน้ำท่วมหนักปี 2554 เห็นว่าควรดำเนินการขุดคลองเพื่อตัดน้ำหลากจากทางภาคเหนือเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสักเดิม และให้ขุดคลองใหม่คู่ขนาน ขนาด 130 X 100 กม. เพื่อเชื่อมกับคลองใหม่ที่จะขุดจากคลองป่าสัก-อ่าวไทย 224 กม.

โดยมีทางออกบริเวณคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการแผนดำเนินงานประกอบด้วย ค่าก่อสร้างคลองระบายน้ำพร้อมถนนคันคลอง ค่าก่อสร้างอาคารประกอบตามแนวคลองค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ส่วน คือ แผนงานขุดคลองขนานชัยนาท-ป่าสัก 3.4 หมื่นล้านบาท

แผนขุดคลองใหม่ป่าสัก-อ่าวไทย 6.5 หมื่นล้านบาท แผนขุดคลองตามวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 8.2 หมื่นล้านบาท และการขุดคลองเชื่อมป่าสัก-วงแหวนรอบที่ 3 อีก 1.3 หมื่นล้านบาท

“จากบทเรียนมหาอุทกภัยปี 2554 ไม่อาจคาดเดาปริมาณฝนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศได้ แต่มีโอกาสเกิดถี่และรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องวางแผนป้องกันบูรณาการระยะยาว ซึ่งแผนนี้จะลดพื้นที่น้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีได้มาก และเพื่อให้น้ำระบายลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ 100% ต้องขุดคลองใหม่ตามแนววงแหวนรอบที่ 3 ยาว 110 กม.”

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าโครงการตัดลำน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และป่าสัก-อ่าวไทย ซึ่งเป็นการขุดคลองใหม่ ระยะทาง 224 กม. ผ่าน จ.ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ลักษณะเป็นคลองเปิด จะทำให้ผ่านที่ชุมชนน้อยกว่าการทำฟลัดเวย์และวงแหวนตามข้อเสนอ


“ที่บางส่วนกังวลว่าต้องขุดคลองผ่านชุมชนนั้น ก็ต้องขอซื้อหรือจัดจ้างแทนการเวนคืนต่อไป แต่หากไม่ยินยอมต้องเจรจาให้ชัดเจน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณซื้อที่ดินรวม 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือจะเป็นด้านเทคโนโลยี การขุดคลองตามแนวขนานกับคลองชัยนาท-ป่าสักนั้นจะเริ่มในปี 2564 ส่วนจากป่าสัก-อ่าวไทยกรมชลประทานอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม”