ส.อ.ท.ขานรับ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ศบศ. อุ้มผู้ประกอบการที่ไม่เลิกจ้าง

Photo by Nhac NGUYEN / AFP

ส.อ.ท. ขานรับ 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมติ ศบศ. ช่วยอุ้มผู้ประกอบการที่ไม่เลิกจ้าง ขยายวงเงินหนุนท่องเที่ยว-บริโภคในประเทศ ปรับระบบอำนวยความสะดวกสูงวัยใช้คูปอง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังจากร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. วันนี้ (2 ก.ย.) ว่า ในที่ประชุมพิจารณา 3 เรื่อง คือ มาตรการแรงงาน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาหลักการและแหล่งเงินทุนต่อไป

“เรื่องแรงงาน หลักการสำหรับดำเนินมาตรการนี้ รัฐจ่ายเงินสมทบให้วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท เช่น ปวช. รายละ 4,000 บาทต่อคน ปวส. 5,000 บาทต่อคน เป็นต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่เลิกจ้างงาน และแรงงานที่ว่างงาน 2.6 แสนคน ระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งประเด็นนี้ทางภาคเอกชนเห็นด้วยกับประเด็นนี้”

ส่วนมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 50% หรือประมาณรายละ 100 บาทต่อคนวัน รวมวงเงินไม่เกินรายละ 3,000 บาท ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้นั้น ทางเอกชนเสนอว่าควรเพิ่มวงเงินเป็น 150-200 บาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท

“การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย ทางเอกชนเสนอให้รัฐพิจารณาปรับวิธีการช่วยเหลือให้สะดวกสำหรับผู้สูงวัยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว โดยให้จ่ายเป็นคูปองแทนการเข้าไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชั่น พร้อมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ และขยายระยะเวลา โดยมีเป้าหมายว่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ 5 ล้านห้องพัก”

“ประเด็นเรื่องการลาออกของ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ยังไม่ได้มีการหยิบยกมาหารือ ก็คงต้องรอว่ารัฐบาลจะคัดเลือกใครมารับตำแหน่งนี้ คงต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักธุรกิจ”