รัฐบาลป่วน “ปรีดี” ลาออก มาตรการเศรษฐกิจสะดุดธุรกิจเอือม

ปรีดี ดาวฉาย

ธุรกิจช็อก รมว.คลัง “ปรีดี ดาวฉาย” ยื่นใบลาออกกะทันหัน อ้างเหตุป่วย วิจารณ์สนั่นโดนการเมืองกดดันหนักจนถอดใจ ผวามาตรการกู้วิกฤตเคว้ง แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสะดุด ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน เอกชนจี้ให้เร่งตั้งเจ้ากระทรวงการคลังคนใหม่

หวั่นนโยบายไม่ต่อเนื่องทำ GDP ติดลบมากกว่า 12% เผยสารพัดปมขัดแย้งกับ รมช.คลัง ทั้งชิงตำแหน่งอธิบดี ไม่มีรัฐมนตรีช่วยแบ่งเบางาน ขวางฝ่ายการเมืองตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

แวดวงธุรกิจช็อกและคาดไม่ถึงที่จู่ ๆ นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ยื่นใบลาออกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกะทันหัน ทั้งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทันทีที่ข่าวการลาออกของ รมว.คลังแพร่สะพัด เสียงวิพากษ์วิจารณ์การคาดเดาสาเหตุการตัดสินใจโบกมือลาจึงมีตามมาเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ทั้งในวงการธุรกิจเอกชน สาธารณชน โดยส่วนใหญ่ต่างวิตกกังวลว่าจะกระทบความเชื่อมั่น ซ้ำเติมให้สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองไทยย่ำแย่ลงอีก

อ้างเหตุป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยระบุเหตุผลในการลาออกว่า “ป่วย” และแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ได้ลงนามอนุมัติ แต่ก็ถือว่าการลาออก มีผลในทางปฏิบัติแล้ว แม้ว่าจะมีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นให้ชะลอการลาออกไว้ก่อน

สำหรับเหตุการณ์ในห้องประชุม ครม.ก่อนนายปรีดียื่นใบลาอออกนั้น รัฐมนตรีรายหนึ่งกล่าวว่า นายปรีดีได้นำเสนอวาระการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง หรือระดับซี 10 (กระทรวงการคลัง) จำนวน 4 ราย ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบตามโผรายชื่อที่นายปรีดีเสนอ ประกอบด้วย 1.ย้ายนายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

ตำแหน่งที่ 2 โอนนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร 3.โอนนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต และ 4.โอนนางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่ากรมธนารักษ์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง

ชิงตำแหน่งอธิบดีสรรพสามิต

หลังจากนั้นในช่วงพักเบรกการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้หารือกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้อำนวยการพรรคอย่างเคร่งเครียด ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือเรื่องตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งนายสันติต้องการให้นายประภาศ คงเอียด ดำรงตำแหน่งนี้ แต่รายชื่อที่นายปรีดีลงนามเสนอต่อ ครม.กลับไม่มีชื่อของนายประภาศ

จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้หารือกับนายปรีดีที่มุมห้องประชุม ครม. เกี่ยวกับรายชื่อแต่งตั้งชั่วครู่อย่างเคร่งเครียดเช่นกัน ทำให้รัฐมนตรีรายอื่นเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปอยู่ร่วมวง การหารือเป็นไปอย่างสั้น ๆ ก่อนที่จะแยกย้ายกลับเข้าห้องประชุม โดยไม่มีรัฐมนตรีคนไหนระแคะระคาย ว่าจะนำไปสู่การลาออกของนายปรีดี

อึดอัดไม่มี รมช.ช่วยทำงาน

แหล่งข่าวที่เป็นรัฐมนตรีว่าการโควตาพลังประชารัฐอีกรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า สัญญาณที่นายปรีดีอึดอัดมีมาตั้งแต่การจัดทำโผรายชื่อ ครม.ประยุทธ์ 2/2 ซึ่งนายปรีดีและนักธุรกิจผู้สนับสนุนนายปรีดีต้องการให้นายปรีดีเลือกรัฐมนตรีช่วยเป็นโควตาของตัวเอง เพื่อให้การทำงานเข้าขากันอย่างราบรื่น แต่โควตารัฐมนตรีช่วยถูกตัดไปที่กระทรวงแรงงาน

เมื่อการประชุม ครม.นัดแรกสัญจรที่ จ.ระยอง นายปรีดีเสนอโผรายชื่อโยกย้าย 4 ตำแหน่ง แต่ไม่ผ่าน เพราะเกิดความขัดแย้งกับ รมช.คลัง นายกฯจึงให้ถอนวาระดังกล่าวออกไป สร้างความอึดอัดให้กับนายปรีดีอย่างมาก ดังนั้นในการประชุม ครม.วันนี้ รัฐมนตรีว่าการกับรัฐมนตรีช่วยจึงเสนอโผรายชื่อแต่งตั้งกันคนละโผ และเมื่อ ครม.อนุมัติโผรายชื่อตามที่ รมว.คลังเสนอ จึงเกิดความขัดแย้งครั้งที่สอง เป็นเหตุให้นายปรีดี ทนไม่ไหว
ยื่นหนังสือลาออกดังกล่าว

ทั้งนี้ นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบันซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ในโควตากลางของนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายปรีดียื่นใบลาออก จะมีผลให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง รักษาการแทน อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอมติ ครม. ว่าจะให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กำกับกระทรวงการคลัง จะทำหน้าที่รักษาการ รมว.คลังหรือไม่

สเป็กเจ้ากระทรวงคนใหม่

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทราบข่าวการลาออกของ รมว.คลัง ซึ่งเพิ่งจะทำงานไม่ถึง 1 เดือนแล้ว หลายฝ่ายคงมองว่ามีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่า การลาออกกระทบต่อความเชื่อมั่นหรือไม่ มองว่าจะยังไม่กระทบ เพราะเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน ยังไม่ได้แสดงฝีมือ ต้องขอบคุณที่ท่านเสียสละเข้ามาทำงานในสถานการณ์วิกฤต หลังจากนี้หากจะหาบุคคลมารับตำแหน่งนี้คงต้องเป็นคนการเมือง แต่ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในงานด้านเศรษฐกิจ มีลูกล่อลูกชน

“การประชุม ศบศ. คงไม่ได้ ถามท่านนายกฯเรื่องนี้ คงเดินหน้าการทำงานตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ ในส่วนของภาครัฐและเอกชนแต่ละรายก็มีแผนอยู่แล้ว ก็ดำเนินการต่อไป ไม่ใช่ลาออก 1 คนแล้วทุกอย่างจะต้องหยุด เดอะโชว์มัสต์โกออน”

ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ในวันที่ 9 กันยายน คงมีการคุยกัน แต่เศรษฐกิจภาพรวมขณะนี้ปัจจัยบวกจากโควิด-19 คลี่คลาย และรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทำให้ธุรกิจกลับมาทำงานได้ ข้อมูลเบื้องต้นหลายส่วนดีขึ้น เช่น รถยนต์เริ่มขายได้ อสังหาริมทรัพย์บ้านจัดสรรดีขึ้น ค้าปลีกดีขึ้น เกษตรดีขึ้น”

เอกชนเอือมเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันภาคเอกชนต้องการเสถียรภาพ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองสำคัญมาก เกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย เช่น การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“ก่อนหน้านี้ในช่วงการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจเราก็มองว่าไม่ใช่จังหวะ แต่พอวันนี้ก็กลายมาเป็นภาพนี้อีก เอกชนต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ นโยบายต่อเนื่อง จริง ๆ จะเป็นใครมาก็ได้ แต่ให้ตำแหน่งในการบริหารแล้วก็ต้องให้อำนาจทำงานเต็มที่ เพราะวันนี้เราต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถ้ารัฐลงทุนแค่ใช้เงินแต่ไม่เกิดประโยชน์ระยะยาว ก็ไม่ควรลงทุน”

หวั่น GDP ติดลบกว่า -12%

ส่วนการเลือกคนที่จะมารับตำแหน่งนี้ต่อไป โดยส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นภาคธุรกิจเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันในลักษณะนี้แล้ว ไม่มีนักธุรกิจที่อยากจะเปลืองตัวเข้ามาทำงาน กรณีนี้ทำให้เกิดคำถามว่า มีใครหรืออะไรไปกดดันการทำงานหรือไม่ เพราะเพิ่งมาทำงานไม่กี่วันก็ลาออก

“สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยจีดีพีมีโอกาสติดลบมากกว่า 12% เพราะ รายได้ 4 ส่วน คือการส่งออกคาดว่าจะติดลบอาจจะไม่ถึง 2 หลัก แต่ยังลบ รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 20% ของจีดีพีจะกลายเป็นศูนย์ การบริโภคภายในประเทศก็ยังไม่ดี ประชาชนไม่มั่นใจซื้อสินค้า รถยนต์ขายไม่ได้ ดัชนีเงินเฟ้อติดลบ การลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนหดตัว ทุกคนต้องการเก็บเงินสด”

ก่อนหน้านี้ ในการประชุม กกร.ล่าสุดรอบเดือนสิงหาคม แม้สถานการณ์เศรษฐกิจอาจจะดูดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังไม่ดี ยังไม่ฟื้นเต็มที่ การเปิดประเทศจึงยังต้องชะลอไปก่อนเพราะกังวลการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 เงินบาทที่ยังผันผวน ส่งออกไม่ดี กำลังซื้อชะลอตัว การจ้างงานยังไม่มาก ห่วงเศรษฐกิจไทยอย่างมากเพราะยังขาดแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และการเยียวยาต่าง ๆ ที่กำลังจะหมดลง กกร.ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ลงอีก อยู่ในกรอบติดลบ 9% ถึงติดลบ 7% ขณะที่ส่งออกติดลบ 12% ถึงติดลบ 10% เงินเฟ้อคงที่ คือ ติดลบ 1.5% ถึง 1%

ตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจก็เจอตอ

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ก่อนจะตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก นายปรีดีมีท่าทีถอดใจก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากถูกการเมืองเข้ามาวุ่นวายหลายเรื่อง นอกจากเรื่องแต่งตั้งระดับอธิบดีในกระทรวงที่งัดข้อกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังแล้ว ช่วงที่ผ่านมายังไปขัดผลประโยชน์ฝ่ายการเมือง เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกด้วย จากฝ่ายการเมืองเข้ามาวุ่นวายขอตำแหน่งที่ปรึกษาต่าง ๆ ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่พอใจ จ้องจะเล่นงานด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“นายปรีดีเข้ามาทำงานได้ไม่กี่วัน แต่ถือว่าทำงานมีประสิทธิภาพมาก มาทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า กว่าจะกลับก็ 3-4 ทุ่ม และพยายามเซ็นงานออก ไม่ให้มีงานค้าง ดังนั้นหากการลาออกมีผล ถือว่าประเทศเสีย รมว.คลังที่ดีไปคนหนึ่ง เรียกได้ว่าคนดีอยู่ไม่ได้ เพราะการเมืองมีบทบาทเหนือกว่า ไปขวางผลประโยชน์”

นอกจากนี้ นายปรีดียังไม่สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างที่ตั้งใจ หรือมีการตกลงกันไว้ก่อนหน้าที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้มีอำนาจเสนอเรื่องต่าง ๆ เข้า ครม.ได้แบบเบ็ดเสร็จเหมือนสมัยนายอุตตม สาวนายน เป็น รมว.คลัง และเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วย น่าจะทำให้นายปรีดีรู้สึกอึดอัดอีกด้วย

ทั้งนี้ ก่อนจะเดินทางไปร่วมประชุม ครม. ช่วงเช้าวันที่ 1 กันยายน นายปรีดี ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ราว 5-6 โมงเช้า ซึ่งน่าจะเป็นการมาไหว้ลา ก่อนยื่นหนังสือลาออกต่อนายกฯ

โครงสร้างบริหารซับซ้อน

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีการยื่นหนังสือลาออกของ รมว.คลังทำให้ทุกฝ่ายตกใจ อาจเพราะเป็นผู้บริหารจากภาคเอกชน ซึ่งอำนาจการบริหารสั่งการจะมีความชัดเจน แต่ รมว.คลังยุคนี้ต้องยอมรับว่าทำงานลำบาก นอกจากปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งในการแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงการคลังที่เป็นปัญหาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้โครงสร้างการบริหารจัดการในรัฐบาลประยุทธ์2/2 ก็ค่อนข้างมีความซับซ้อน จากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ขึ้นมาซึ่งมีบทบาทในการสั่งการส่งต่อนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทำให้ไลน์การสั่งงานไม่ชัดเจน รวมถึงหลาย ๆ มาตรการก็เป็นการเสนอมาจาก ศบศ.ให้กระทรวงการคลังมาดำเนินการ ทำให้เหมือนกับว่ารัฐมนตรีคลังยุคนี้ต้องรับโจทย์จากหลายทางและแต่ละทางก็อาจจะมีนโยบายไม่สอดคล้องกัน

งานหนักนายกรัฐมนตรี

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวถึงกรณี รมว.คลังยื่นจดหมายลาออกว่า เรื่องนี้อาจจะยังไม่คอนเฟิร์ม และเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน แต่แน่นอนหากเป็นเรื่องจริงต้องรีบหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่โดยเร็ว ซึ่งถ้ามีได้เลยทันทีก็จะดี เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้วิกฤตโควิด เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะถดถอย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จึงยังจำเป็นต้องทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ช่วงระหว่างรอการแต่งตั้งอาจจะไม่ได้กระทบต่อเซนติเมนต์ตลาดทุนไทยมากนัก เนื่องจากมี รมช.คลังอยู่ จึงน่าจะเดินแผนสานงานต่อเนื่องต่อไปได้ เนื่องจากเป็นคนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีมาก่อนอยู่แล้ว ทำให้การเดินหน้าคงไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตามอาจจะมีผลเชิงลบต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันพรุ่งนี้บ้าง แต่คงไม่ลบมากเพราะตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นน้อยกว่าตลาดอื่น (underperform) มากอยู่แล้ว

แนะรัฐเร่งหา รมว.คลังคนใหม่

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการกลุ่มการค้าอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลาออกกะทันหันของนายปรีดีมองว่ายังไม่บวกหรือลบ เหตุผลการลาออกผมวิจารณ์ไม่ได้ แต่ตำแหน่งนี้ต้องเร่งหาคนมาแทน ต้องเป็นคนมีคุณสมบัติ ไม่ใช่ใครก็ได้

“นาทีนี้เราต้องการคนมองไปทางแนวบุกแนวรุก ไม่ใช่คอนเซอร์เวทีฟ ถ้ามาแล้วป้องกันหรือออกกฎเกณฑ์อย่างเดียวคงไม่ใช่แล้ว ต้องเป็นคนยอมกล้าได้กล้าเสียที่จะเป็นมวยบุก ถ้าเลือกคนที่ไม่ได้มีแนวความคิดกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ คงไม่อยากได้อย่างนั้น ต้องการคนที่มองไปข้างหน้าแล้วทำยังไงให้กระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมา ต้องไม่กลัว เหมือนกับสมัยก่อนมีบางยุคที่มีแต่ทีมบริหารขิงแก่ ไม่กล้าทำอะไร นักวิชาการก็ไม่เอา”

อสังหาฯชง 3 ภารกิจหลัก

สำหรับภารกิจหลัก 3 เรื่องที่ต้องการให้ รมว.คลังเข้ามาทำ 1.แก้ไขภาพเศรษฐกิจโดยรวม พูดแล้วฟังเหมือนกว้างแต่ไม่ได้กว้าง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจจะต้องขับเคลื่อนกลไกจีดีพีทั้งหมด ตัวที่จะทำให้ผลประกอบการของประเทศได้ขับเคลื่อนออกไป 2.ทำอย่างไรให้ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ให้มีปัญหา

3.การพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศ ซึ่งคนเข้าใจว่าระบบอินฟราสตรักเจอร์ทางกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น โจทย์การบริหารประเทศอยู่ที่ทำอย่างไรให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

มั่นใจรัฐหนุนอุตฯรถยนต์ต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในทางการเมืองเรื่องการลาออกจากตำแหน่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยส่วนตัวแล้วยังมีความมั่นใจในการทำงานของข้าราชการประจำ ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงการคลังไปจนถึงระดับปฏิบัติการ รวมถึงท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้ โดยเฉพาะโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง