จันทบุรีจี้รัฐแก้ “แรงงานลำไย” เปิดด่านชายแดนเฉพาะจุด-กักตัวในล้ง

แรงงานเก็บลำไย
ภาพ : มติชนออนไลน์

เดดไลน์สรุปปัญหาแรงงานลำไยภายในเดือนกันยาฯนี้ หวั่นเน่าคาต้น เศรษฐกิจอาจสูญ 4 พันล้าน รัฐ-เอกชนจังหวัดจันทบุรี จี้ ศบค.เปิดด่านเฉพาะจุดชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน เสนอทางออกให้กักตัวที่ล้งแทนรีสอร์ต-โรงแรม หวังลดภาระผู้ประกอบการ-ชาวสวน บริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวกระทบหนักเช่นกัน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวลำไยในฤดูกาล 2563/2564 ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนนั้น ทำให้ผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่ได้ประชุมหารืออีกครั้งเมื่อ 31 สิงหาคม 2563

ล่าสุด นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติขจร นายกสมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และคณะ ได้เข้าพบ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พร้อมหารือถึงการปลดล็อกอย่างเร่งด่วน

พงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล
พงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล

นายพงษ์พัฒน์ เปิดเผยว่า ปัญหาขณะนี้คือ สถานประกอบการ (ล้ง) ยังไม่รับซื้อ แล้วการนำเข้าแรงงานตามมาตรการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรีก็เข้มงวดใกล้เคียงกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยมีค่าใช้จ่ายคนละ 8,400-10,000 บาท ผู้ประกอบการจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“ข้อสรุปผ่านคณะ ศบค.ชุดเล็กแล้ว และต้องจัดทำข้อมูลเพิ่ม เพื่อเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอนุมัติ ภายในเดือนนี้คงทยอยนำเข้าได้ ถ้าจันทบุรีทำได้ดี มีมาตรฐานก็จะเป็นต้นแบบให้อีกหลายจังหวัด”

นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นำเข้าแรงงานครั้งนี้เปิดเฉพาะจุดเท่านั้น คือชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พร้อมกักตัวที่ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ตามมาตรการต้องจัดหาสถานที่กักตัวระยะแรก โดยใช้โรงแรมรีสอร์ตทั้ง 2 อำเภอที่ประเมินความเหมาะสมแล้ว 12 แห่ง แห่งละ 40 คน ซึ่งแรงงานนำเข้าชุดแรกมี 500-1,000 คน หากรีสอร์ตและล้งมีความพร้อมมากขึ้นก็รับแรงงานได้เพิ่ม ทั้งนี้ได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนตรวจหาเชื้อด้วย

“มาตรการนี้ได้รับความเห็นชอบ แต่ขอให้เพิ่มการจัดทำเอกสารควบคุมแรงงาน เพื่อรายงานกระทรวงการต่างประเทศ และแรงงานจังหวัด พร้อมหาทางช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ เช่น ค่าตรวจหาเชื้อ ค่าที่พักอาหารอาจต่อรองกับเอกชนด้วยกัน ส่วนเจ้าของสวนลำไยที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ภาครัฐกำลังพิจารณาหรือใช้สถานประกอบการของล้งก็น่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ข้อมูลทั้งหมดจะเสนอให้ ศบค.พิจารณากลางเดือนกันยายนนี้” นพ.อภิรักษ์กล่าว

นางสาวอรัญญา สกุลโกศล นายกสมาคมการจัดหาแรงงานไทยในต่างประเทศ ในฐานะบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เสนอปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรและภาคประมงกว่า 4,000 คน ต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าไทยได้ เพราะกังวลเรื่องโควิด-19 รอบสอง

“กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับผลกระทบหนัก เพราะถึงฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว ถ้าภาครัฐยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ผลผลิตจะเน่าเสียหายคาต้น สูญรายได้ในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทแน่นอน”

นอกจากเกษตรกรที่เจอปัญหาแล้ว บริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เพราะไม่สามารถจัดหาแรงงานเข้ามาประเทศได้ จาก 4 ประเทศคือ เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม

“ตอนนี้ภาครัฐต้องชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะมีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามด่านชายแดนมากขึ้นแล้ว ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งความมั่นคงและความปลอดโรค”