รัฐบาลสปีด 3 มาตรการกู้วิกฤต จ้างงาน-แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ-แก้หนี้

รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เปิดใจสัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” แผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ชู 3 มาตรการเร่งด่วน “จ้างงาน-กระตุ้นใช้จ่าย-แก้หนี้” รับข้อเสนอเอกชนพักหนี้ 2 ปีมีลุ้น แบงก์ชาติและสถาบันการเงินอยู่ระหว่างหารือ ต้องพิจารณารายกลุ่ม มาตรการระยะยาวปรับแผนดึงการลงทุนต่างประเทศ มอบนโยบาย “อีอีซี” โฟกัส 3-4 กลุ่มอุตฯดาวเด่น พร้อมเสริมจุดแข็งประเทศให้ชัด สั่งรื้อแก้เกณฑ์ซื้อที่ดิน-คอนโดฯ-เช่าอสังหาฯ ดึงต่างชาติลงทุน-พำนักระยะยาว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้ามาตรการกู้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด มีทั้งมาตรการเศรษฐกิจระยะสั้น-เร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19

จ้างงานล้านตำแหน่ง-นศ.จบใหม่

มาตรการระยะสั้น-เร่งด่วนมี3เรื่องหลักคือ จ้างงาน-กระตุ้นการใช้จ่ายและแก้ปัญหาหนี้ คือ 1.จ้างงาน 1 ล้านตำแหน่งซึ่งตำแหน่งงานตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ประมาณกว่า 6 แสนอัตรา และนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา โดยรัฐช่วยออกค่าจ้างครึ่งหนึ่ง (Co-pay) ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดด้านพลังงานจะให้นักศึกษาจบใหม่ลงพื้นที่ นำเทคโนโลยีไปใช้ในชนบท อาทิ เกษตรแผนใหม่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เกษตรพลังงาน เป็นโอกาสสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีไปพร้อมกัน

สำหรับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 19 สถาบัน จัดหลักสูตรระยะสั้นด้านดิจิทัล data analytic robotic สถาบันดิจิทัลแห่งชาติ พร้อมจัดหลักสูตรรองรับ 2.5 แสนคน นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนหลายรายตอบรับเข้าร่วมโครงการ ประกาศรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงานเบื้องต้น 1-2 หมื่นกว่าตำแหน่ง

“เงินช่วยเหลือในส่วนนี้ของรัฐที่เข้าไป ไม่เป็นเพียงแค่ดึงดูดด้วยค่าใช้จ่ายให้แก่เอกชนเหล่านั้น แต่ยังเป็นทุนรอนในการปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมสำหรับตำแหน่งงานในอนาคต”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เชื่อว่าเอกชนไทยสามารถปรับตัวเองได้ ไม่ได้ต่างจากนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวในวันหยุด เพื่อช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากเดิมที่อัตราเข้าพักเพียง 3% วันนี้ 30%

“ผมมีความเชื่อว่า เอกชนต้องเล็งเห็นถึงประโยชน์ระดับหนึ่งที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะแสดงตนว่า ในยามวิกฤต ตัวเองมีสภาพที่พอจะช่วยได้จะมาช่วย เป็นสิ่งที่จะได้จดจำไว้ตลอดว่า ในยามวิกฤตท่านได้มีส่วนร่วม การเพิกเฉยและปล่อยให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศเรา”

ในวันที่ 26-28 กันยายน จะมีการจัดงานJob Expo Thailand 2020 ที่ไบเทค บางนา และการลงทะเบียนสมัครงานผ่าน www.ไทยมีงานทำ.com

คนละครึ่ง-คนละเสี้ยว

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากโครงการ “คนละครึ่ง” รายละ 3,000 บาท 10 ล้านคน และเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รายละ 500 บาท 14 ล้านคน

“ใครมีความพร้อมเอาไปเสี้ยวหนึ่ง พร้อมน้อยหน่อยเอาไปครึ่งหนึ่ง ถ้าไม่พร้อมเลยท่านอาจจะได้มาก เจาะเป็น กลุ่ม ไม่ยิงสาด และทำเร็วที่สุด ประคับประคองไป เป็นซีรีส์ ทยอยใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความไม่แน่นอน เพราะช่วงนี้ต้องบริหารความไม่แน่นอน เดินไปวัดผลไป แล้วค่อยปรับ แต่ถ้าแน่นอนเมื่อไหร่จะใส่เกียร์ 5”

พักหนี้ 1 ปี เอกชนขอ 2 ปีมีลุ้น

3.แก้ปัญหาหนี้ ลูกหนี้ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับย่อย เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และสถาบันการเงิน ซึ่งมีอะไรที่รัฐบาลสนับสนุนได้ก็จะทำเต็มที่ ที่ผ่านมาธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินทำโครงการ DR BIZ (ช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย) ประคับประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ตนรอคอยการปรับโครงสร้างหนี้ การสร้างสภาพคล่องให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลจะติดตามอย่างใกล้ชิด และสนับสนุนเต็มที่

“วันนี้ธนาคารมีทุนเพียงพอ มีขนาดของทุนที่ใหญ่เกินเกณฑ์ 11% หรือมีถึง 19% นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอีของ ธปท. อาทิ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องปรับเกณฑ์ให้เหมาะสม”

อย่างไรก็ดีหลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์ ตัวชี้วัดผู้ประกอบการเริ่มค้าขายกันมากขึ้น หนี้ที่พักอยู่ตอนนั้นคลี่คลายไปตามลำดับ คงจะไม่เลวร้ายถึงขนาดไม่มีรายได้ หรือรายได้เป็นศูนย์ วันนี้การบริโภค การเดินทางมากขึ้น ไม่ได้บอกว่าหนี้ที่พักกันไปเป็นหนี้ที่เลวร้าย เป็นหนี้ที่จ่ายไม่ได้ เป็นหนี้ที่สูญเสีย แต่มีการกลับคืนมา มีตัวเลขการใช้จ่ายมากขึ้น ดัชนีชี้วัดการผลิตดีขึ้น

สำหรับข้อเสนอเอกชนที่ขอพักหนี้ 2 ปีนั้น นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า 1 ปีได้อยู่แล้ว ได้มาก ได้น้อยก็ปรับกันไป แต่จะมีการพิจารณาเป็นกลุ่ม ๆ และเอกชนจะรู้ดีว่าคนไหนเข้มแข็ง คนไหนควรให้กู้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าใครยื่นข้อเสนออะไรมาทางตัวแทนภาคเอกชนขอให้ทุกคนเลย ทั้ง ๆ ที่แม้แต่ตัวของท่านเองยังไม่ปล่อยสินเชื่อให้เขาเลย เพราะฉะนั้นข้อเสนอต่าง ๆ ควรจะ มีการจัดกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาให้ ไม่ใช่ใครขออะไรเสนอมาทั้งหมด เรื่องนี้ขอให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ต้องมีความกล้าหาญ

แก้เกณฑ์ซื้อ-เช่าอสังหาฯ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ระยะปานกลางและระยะยาวเป็นเรื่องของอนาคตประเทศ ภายหลังเมื่อโควิดจบ ถือเป็นโอกาส เพราะหลังจากโควิดพบว่าผู้ประกอบการทั่วโลกให้ความสนใจ มีวิถีการปฏิบัติประกอบกิจการแบบใหม่ คือจะไม่เก็บศูนย์กลางของการผลิตไว้ในประเทศเดียว แต่กระจายศูนย์กลางการผลิตไว้หลายที่ ไทยจะเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่งของกลุ่มผู้ประกอบการระดับโลก ผลจากการควบคุม ระมัดระวัง ระเบียบวินัยในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ชาวต่างชาติ ผู้มีฐานะสนใจอยากมาอยู่ที่ประเทศไทย อยากจะมาลงทุน อยากมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เหล่านี้เป็นโอกาส

ขณะเดียวกันไทยมีความพร้อมหลายด้าน ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา วางโครงสร้างพื้นฐานไว้ทั้งถนน ท่าเรือ ระบบดิจิทัล การสื่อสาร 5G โทรคมนาคม เชื่อว่าจะนำมาใช้ประโยชน์สอดคล้องกับกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดจบ

STV เจาะกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพ

วันนี้รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ special tourist visa (STV) ควบคู่ไปกับการค่อย ๆ เปิดประเทศอย่างมีคุณภาพ จัดเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ท่องเที่ยวเชิงปริมาณ เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จะได้นักท่องเที่ยวที่สนใจที่จะมาพำนักในประเทศไทย เพราะจุดแข็งเรื่องความสวยงาม การควบคุมดูแลในเรื่องของสาธารณสุข การดูแลเรื่องความปลอดภัยจากโควิดเราโดดเด่นมาก

“ส่วนภูเก็ตโมเดลอาจจะเป็นภาคสอง ทำให้ขยาย ทำให้เป็นตัวอย่างในเชิงที่พอข้อมูลทางการแพทย์ดีมากขึ้น เรื่องความรู้ ความเข้าใจของภาคประชาชนมากขึ้น ผมเชื่อว่าจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ขอให้ได้เริ่มและทันทีที่ได้เริ่มเราจะมีอันที่สอง อันที่สามผ่อนคลายขึ้น flight การเดินทางต้องเปิด มีวีซ่าประเภทต่าง ๆ มากขึ้น เปิดน่านฟ้ามากขึ้น ต้องใช้เวลา แต่ไม่นาน”

โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) อยู่ระหว่างพิจารณาวีซ่าให้อยู่ระยาวมากขึ้น ถ้ามาซื้อหรือมาลงทุนอสังหาฯในประเทศไทย หรือ เช่าอสังหาฯระยะยาว เป็น regional hub

“กำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา เช่น เรื่องกรรมสิทธิ์ อย่างคอนโดฯ ขณะนี้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้อยู่แล้ว 49% ของเนื้อที่อาคารชุด ถ้าไม่พอก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ช้า ต้องเร็ว ผมตามทุกสัปดาห์ ที่ดินก็จะเป็นการเช่า ถ้าเป็นการส่งออก 100% ใช้สิทธิการถือครองที่ดิน เข้าใจว่า บีโอไอให้อยู่แล้ว”

รื้อแผนอีอีซีชู 4 อุตฯดาวเด่น

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า วันนี้โครงการขนาดใหญ่ 3-4 โครงการ รัฐบาลมีเจ้าภาพหมดแล้ว ได้เวลาแล้วที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา ช่วงนี้เป็นการชกลม เป็นการสื่อสารผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปก่อน ซึ่งได้คุยกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า อุตสาหกรรม 10 ประเภท ให้เลือกเอาเฉพาะที่โดดเด่น คัดมาเลย 3-4 อุตสาหกรรม เช่น เรื่องดิจิทัล เมดิคอลฮับ

“ต้องเอาไปพูดกับใครแล้วปฏิเสธไม่ได้ นักลงทุนต่างประเทศฟังแล้วก็ต้องบอกว่า ฮ้อ ใช่เลย หรือ wow ให้เขาเชื่อว่าไม่มีประเทศไหนมีความพร้อมเท่ากับประเทศไทย ไม่ต้องไปยิง 12 อัน ให้เขาไม่แน่ใจว่า อันไหนกันแน่”

โดย 3-4 อุตสาหกรรมที่ถูกเลือกมาก่อนจะเป็นเรือธง และให้สิทธิประโยชน์ในการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งอย่าเอาประเทศไทยเป็นตัวตั้ง เพราะเราต้องแข่งกับประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไปเทียบดูของเราที่มีอยู่ยังไม่ดึงดูดพอก็ให้ไปปรับปรุง

“ไม่ถึงกับปรับกลยุทธ์ เพียงปรับข้อเสนอ ข้อจูงใจให้สอดคล้องกับสถานการณ์และจุดแข็งของเรา ลองนึกภาพ ถ้าไม่มีโควิด จุดแข็งของเราก็จะเหมือนเดิม อาจจะแข่งขันไม่ได้ แต่พอมีโควิดแล้ว จุดแข็งเรามีมากขึ้น”

ไฟไม่ดับ-ราคาเป็นธรรม

นายสุพัฒนพงษ์ยังกล่าวถึงภารกิจในฐานะ รมว.พลังงานว่า กระทรวงพลังงานมีหน้าที่รักษาความมั่นคงทางพลังงาน สำคัญที่สุด ไฟต้องไม่ดับ แก๊สต้องมี ราคาต้องเป็นธรรมและเหมาะสมเทียบได้กับอาเซียน นอกจากนั้นจะดูแลสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน แต่จะเติมเข้ามาคือการสร้างรายได้ จ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เช่น กองทุนอนุรักษ์พลังงาน กองทุนรอบโรงไฟฟ้า

“เมื่อผ่านไป 1 ปี เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โควิดหายไป เด็กเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ รองรับกับสิ่งที่นักลงทุนในต่างประเทศจะมาลงทุนในประเทศไทย ในอนาคตเราจะมีนักลงทุนที่จะขยายฐานการผลิต ให้มีฐานเล็ก ๆ เกิดขึ้น เราก็จะมีบุคลากรไว้รองรับ”

นอกจากนี้ต้องมีพลังงานสะอาดให้เป็นมาตรฐานของประเทศที่ได้รับการยอมรับจากสากล ตามแผน PDP พลังงานทดแทน 30% ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนต้องปรับหน่อย จาก 1,900 เมกะวัตต์ เป็น 100-200 เมกะวัตต์ เพราะทำแล้วเกษตรกรต้องได้ ผู้ประกอบการไฟฟ้าที่จะทำ ต้องมีความเสียสละ ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์