เดลต้าผนึกอมตะ เตรียมผุด Smart City นิคม EEC

"แจ็คกี้ จาง" ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

สัมภาษณ์พิเศษ

“เดลต้า” บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรสัญชาติไต้หวันที่ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 32 ปี นับตั้งแต่ปี 2531 ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต้มยำกุ้ง มาสู่วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีผลทำให้ “พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยน” กลายเป็นโจทย์ความท้าทาย ที่วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ

“แจ็คกี้ จาง” ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทยหลังจากสงครามการค้าและการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Smart City

เดินหน้าขยายการลงทุน

ผมเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในจังหวะที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้เป็น president อยู่ที่เดลต้า ยุโรป ความตั้งใจอยากที่จะทำหลายสิ่ง อยากนำประสบการณ์จากยุโรปมาใช้ที่เดลต้า ประเทศไทย และแน่นอนว่าธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท คือ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

“นโยบายหลักของเดลต้าทั่วโลกยังคงยึดหลัก 3 ด้านดำเนินธุรกิจ คือ การเป็น smarter หมายถึงการที่เดลต้ามีนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลอด เพื่อให้เกิดโซลูชั่นที่ครบวงจร การเป็น greener ด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดเข้ามาจัดการ อย่างโซลาร์รูฟท็อป และ together การร่วมมือทำงานในองค์กร รวมถึงกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งพาร์ตเนอร์ ทั้งรัฐบาล”

ผลิตภัณ์ของเดลต้ามี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ (power) อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์ซัพพลาย อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ พัดลมและการจัดการความร้อน ในสัดส่วน 50% 2.ระบบอัตโนมัติ (automa-tion) การจัดการด้านโรงงานสำหรับอุตสาหกรรมและอาคาร สัดส่วน 25% 3.ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) การสื่อสารด้าน ICT เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานทั้งโซลาร์และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ EV

ภาพอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ในไทย

“ผมมองว่าที่ผ่านมาตลาดในไทยยังคงเติบโตได้ดี ทำให้เราตั้งโรงงานด้านชิ้นส่วนขึ้นอีกแห่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เป็นเดลต้าโรงงาน plant 3 เป็นส่วนผลิตภัณฑ์ประเภท networking ที่ย้ายมาจากประเทศจีน นี่คืออานิสงส์สงครามการค้า เพราะเทรดวอร์ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน มีการย้ายฐานการลงทุนมาที่ไทยต่อเนื่อง และยังมีการขยายการลงทุนโรงงานที่ 7 ใน จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ช่วงต้นไตรมาส 2/2564 และยังลงทุนด้านบุคลากรเพิ่มเติม”

นอกจากนี้ เดลต้ายังมองโอกาสจะขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพิ่มเติมอย่างที่ อินเดีย ซึ่งจะเป็นการขยายกำลังการผลิตเดิม รวมถึงการมองหาสถานที่ขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม จากเดิมที่เรามีการลงทุนอยู่แล้วในเวียดนาม และสิงคโปร์

กลยุทธ์ “นวัตกรรมโซลูชั่น”

แผนการขยายโซลูชั่น เราจะยกตัวอย่างให้ดูง่าย ๆ อย่าง ตัวอาคาร เราจะเอาระบบอัตโนมัติเข้าไปออกแบบภายในตัวอาคาร ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ดีไซน์หุ่นยนต์ แขนกล ดีไซน์ซอฟต์แวร์การควบคุมระบบ แน่นอนว่าตั้งแต่โควิด-19 มา มันมีการใช้หุ่นยนต์เข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นตัวโดดเด่นของเดลต้าที่ทำให้เราเหนือกว่าคู่แข่งก็มีหลายตัว อย่างเช่น สถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EV (charging station) ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) ในบริบทของสมาร์ทกริด การจัดการด้วยระบบอัตโนมัติในอาคาร (automation building) และระบบคลาวด์

อย่างตัว charging station EV เป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ในอนาคต ซึ่งเดลต้าเองได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการจัดตั้งสถานีชาร์จขึ้นมา โดยเราจะเป็นผู้ผลิตตัวชาร์จให้ มีทั้งตัวที่เป็นชาร์จเร็ว (quick charge) ภายในไม่กี่นาที และชาร์จปกติ นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เดลต้าทำให้มันเกิดขึ้นเพื่อรองรับตลาดในอนาคต

เล็งร่วมลงทุน “Smart City”

ด้วยการที่เดลต้ามีโซลูชั่นครบวงจรหลายด้าน จึงมีแผนจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยการนำเอาโซลูชั่นเข้าไปบริหารจัดการในพื้นที่เหล่านี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์รายใหญ่ คือ “กลุ่มอมตะ” ซึ่งอมตะมีแผนทำ Smart City ในนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นี่คือ Smart City ด้านหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง คือการพัฒนาบุคลากรเพื่อโครงการ Smart City ซึ่งเดลต้าได้หารือกับ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในฐานะประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) จากนั้นจึงได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทางมหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมาร่วมกันพัฒนาบุคคล พัฒนาห้องปฏิบัติการและศักยภาพนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในด้านหุ่นยนต์และระบบที่เกี่ยวข้อง

จากนโยบายของภาครัฐเรื่องการจ้างงาน ขณะนี้เราอยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายบุคคล HR ถึงการรีครูตจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ว่าจะมีตำแหน่งงานที่เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะนักศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรม การเงิน ซึ่งเดลต้าเองก่อนหน้านี้ได้มีความร่วมมือกับทาง 6 มหาวิยาลัยอยู่แล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิททยาลัย เป็นการลงทุนเรื่องคนเพื่อระยะยาว

ขอรัฐบาลหนุนนวัตกรรม

ผลประกอบการเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 จากการรายงานแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีรายได้ 27,547 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 2,707 ล้านบาท ทั้งปี 2563 นอกจากแผนการดำเนินงานตามปกติแล้ว ยังเตรียมจัดกิจกรรมสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้นักลงทุนสนใจ เห็นถึงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย และเห็นเทรนด์ของอุตสาหกรรม

ในวันที่ 9 ต.ค. 2563 นี้ จะจัดสัมมนา “Delta Future Industry Summit 2020 : Future Proofing Thailand for the Next Normal เตรียมพร้อมประเทศไทยรับมืออนาคตยุค Next Normal” โดยเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงตัวแทนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก ความคิดเห็นต่าง ๆ

วิกฤตโควิดสู่ “เมกะเทรนด์”

“ผมยังคงเห็นโอกาสและศักยภาพของประเทศไทย ในความเสี่ยงผมเห็นการบริหารจัดการ การรับมือที่เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะกระทบการท่องเที่ยวแต่ในท้ายที่สุด การท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา โควิด-19 ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยเห็นเมกะเทรนด์ จากการมุ่งเป้าแค่การท่องเที่ยวเป็นหลัก รัฐบาลไทยเทความสำคัญมาที่ภาคอุตสาหกรรม อย่างการผลักดันในพื้นที่ EEC อย่างมากซึ่งจะเป็นตัวนำในอนาคต”

เดลต้ามั่นใจว่าอุตสาหกรรมในไทยจะถูกขับเคลื่อน และได้การสนับสนุนจากรัฐในด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากบีโอไอ ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่น ๆ เมื่อเมกะเทรนด์เกิดขึ้น เดลต้าขอให้ภาครัฐสนับสนุนด้านนวัตกรรม วิจัย R&D รัฐต้องให้ความสำคัญมากที่สุด รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรวิศวกรรม

เพราะมันคือโครงสร้างพื้นฐานที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ถือเป็นการลงทุนระยะยาว เช่น ที่เดลต้ามี Delta Lab มีศูนย์นวัตกรรมในองค์กร เช่น เดลต้า อะคาเดมี่ และยังมีส่วนร่วมสนับสนุนงานวิจัยใน Delta Angel Fund กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม