เจ้าสัวธนินท์ : จบดีล เทสโก้ โลตัส คืนค่ายซีพี สำเร็จดีใจได้อีกวัน

ธนินท์ เจียรวนนท์
FILE PHOTO : dhanin chearavanont /

“เจ้าสัวธนินท์”  ดีลควบรวมกิจการเทสโก้ โลตัส สำเร็จ ดึงกิจการค้าปลีกยักษ์คืนอ้อมอกซีพี

ถือว่าปิดดีลไปแล้วสำหรับการประกาศซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” ในไทยและมาเลเซีย ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผ่านบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เมื่อ 9 มีนาคม 2563 ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

พร้อมกับมีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 2 บริษัท ช่วงเดือนมีนาคม คือ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญ ทั้งทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัล กรุ๊ป ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่เคยสนใจดีลนี้เช่นกัน

ดีลนี้สำเร็จ ซีพีจะได้สาขาของเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยมาครอบครองรวมประมาณ 1,967 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และโลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา พื้นที่ในศูนย์การค้า 191 สาขา

แถมยังจะได้สาขาเทสโก้ โลตัสในประเทศมาเลเซียมาดูแลอีก 68 สาขา ในจำนวนนี้เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขา และร้านขนาดเล็ก 9 สาขา

ทำให้อาณาจักรค้าปลีกของซีพีมีช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดได้ทุกเซ็กเมนต์

จากเดิมที่ ค่ายซีพี มีเซเว่นอีเลฟเว่น ในฐานะเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้อ ที่วันนี้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเฉียดๆ 12,000 สาขา

แถมมี “แม็คโคร” ที่ถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดค้าส่ง และมีสาขาอยู่มากกว่า 140 สาขา และในจำนวนนี้เป็นสาขาในกัมพูชา อินเดีย และจีน รวม 7 สาขา

การมีค้าปลีกทั้ง 3 แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น-แม็คโคร-เทสโก้ โลตัส” อยู่ในมือ จะทำให้การซินเนอยี่ทางธุรกิจง่ายเพียงลัดนิ้วมือ

โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งสินค้า ตลอดรวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจของกลุ่มซีพีเข้าไปมาเลเซียในสเต็ปต่อไป

อาณาจักรซีพีในวันนี้เป็นทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า การแปรรูปเนื้อสัตว์ หมู ไก่ กุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งประเภทปรุงสุก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป การเปิดหน้าร้าน ทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหาร

การปิดดีลควบรวมเทสโก้ โลตัสในเวลานี้ จึงขยายฐานลูกค้าให้กับซีพีได้มหาศาล เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเทกโอเวอร์แม็คโคร ที่ทำให้กลุ่มซีพีได้ฐานลูกค้า ประกอบการค้าปลีกรายย่อย ร้านค้าโชห่วย เพิ่มขึ้นมาทันที

“เจ้าสัวธนินท์” ให้สัมภาษณ์  เรื่องดีลการซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสไว้กับ “เดอะแสตนดาร์ด” ว่า “เทสโก้ โลตัส” เป็นเหมือนลูก

“…ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม”

“ผมเป็นผู้สร้างโลตัสในเมืองไทย แต่ต้องจำใจขายกิจการในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพื่อรักษาธุรกิจหลักคือธุรกิจเกษตรเอาไว้ แต่มั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ที่เคยใช้ปรมาจารย์ระดับโลกจาก Walmart มาช่วยบริหารตั้งแต่ยุคเริ่มต้นนั้น ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในรากฐานของธุรกิจ เปรียบเสมือนตึกสูงที่มีเสาเข็มที่แข็งแรง”

เจ้าสัวธนินท์ คาดหวังว่าการดีลซื้อครั้งนี้ “จะทำให้เทสโก้ โลตัสมียอดขายเพิ่มมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว โดยใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามา เปลี่ยนแปลงระบบให้ประสิทธิภาพสูงขึ้น รายได้มากขึ้น

ในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” เขียนโดยเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ สำนักพิมพ์มติชน ระบุถึงการก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ของเครือซีพีว่า ทำให้ต้องตัดสินใจขายกิจการหลาย ๆ อย่างออกไป ไม่ว่าจะเป็น “สยามแม็คโคร หรือ โลตัส” ถือเป็นการ “ทิ้งของบางส่วนเพื่อไม่ให้เรือล่ม” และคิดว่า “วันนี้ขายได้ วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้”

เมื่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมี ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา เป็นประธาน ได้ใช้เวลาพิจารณาวาระการรวมธุรกิจ ตามคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) นานร่วม 10 ชั่วโมง จบลง นับตั้งแต่นาทีนั้น ถือว่าเจ้าสัวธนินท์ กำชัยชนะ ในศึกชิงยักษ์ค้าปลีกสำเร็จ

เป็นความสำเร็จที่ เจ้าสัวธนินท์ จะดีใจได้อีกวัน!!