กพช. เพิ่มอัตรารับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนจาก 1.68 เป็น 2.20 บาท

กพช. เดินหน้าขับเคลื่อนไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาภาคประชาชน มีเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบในปี 2564 เพิ่มอัตรารับซื้อเป็น 2.20 บาท ขยายไปกลุ่มโรงพยาบาลและโรงเรียน รับซื้อที่ 1 บาท คาดสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ส่วนที่เหลือใช้เพื่อขายไฟเข้าสู่ระบบ จากเดิมที่รับซื้อในอัตราที่ 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 MW ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีการเข้าร่วมโครงการเพียง 2-3 MW เท่านั้น

ดังนั้น กพช. จึงต้องการส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัย มีส่วนร่วมมากขึ้นจึงต้องปรับอีตราใหม่ให้เป็นที่จูงใจ และจะเป็นอีกส่วนหนึ่งต่อการสร้างงาน และช่วยผลักดันเศรษฐกิจปี 2564 และเป็นอีกข่าวดีของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมได้ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาท/kWh* จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 MWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งจะมีผลกับรายเก่าที่เคยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วเช่นกัน

ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้นสามารถคืนทุนภายใน 8 – 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (เป็นโครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/kWh แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 MWp กลุ่มโรงพยาบาล 20 MWp และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 MWp

ซึ่งหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp มีความเสถียรทางด้านไฟฟ้าที่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อไฟฟ้าหลัก ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย

ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รับไปหารือกับ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา สามารถซื้อขายไฟได้ด้วย

คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 MWp จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

“ในแผน PDP กำหนดส่วนนี้ไว้ที่ 100 MWp โดยเป็นส่วนของภาคครัวเรือน บ้านที่อยู่อาศัย 50 MWp และส่วนของโรงเรียน โรงพยาบาล ภาคเกษตร 50 MWp เป็นตัวนำร่องไปก่อนสำหรับปีนี้ ปีหน้าจะจะสามารถขายไฟเข้าระบบได้ ที่เราต้องนำร่องเพื่อเราจะได้รู่ว่าหน่วยงานเหล่านี้เขาสนใจมากขนาดไหน จากนั้นค่อยขยายเพิ่ม หากคนสนใจเยอะเราต้องดูอัตราไฟว่ามันเสถียรมั่นคงหรือไม่ ดังนั้นคนที่ขายไฟส่วนเกินเข้าระบบได้ไฟฟ้าจะต้องมีความเสถียร และที่เราใช้อัตราค่าไฟทั้ง 2 กลุ่มต่างกัน ให้ครัวเรือนมากกว่าเพราะเราอยากส่งเสริมเขา จากนี้มันจะเกิดทั้งการลงทุน ธุรกิจผลิตโซลาร์ และธุรกิจกำจัดแผงโซลาร์ตามมา”