นโยบายการค้า “ไบเดน” ดันส่งออกไทยพุ่ง

(Photo by Nicholas Kamm / AFP)

“ทูตพาณิชย์ไทย” ในสหรัฐมั่นใจส่งออกสหรัฐปี’64 โต 4-6% รับอานิสงส์นโยบาย “ไบเดน” อัดฉีดเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือให้ระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม-แรงงาน-ค่าเงิน หวั่นปัจจัยเสี่ยงบาทแข็งโป๊ก 28 บาท กับการขาดแคลนตู้ฉุดส่งออกไปไม่ถึงฝัน ส่วนข้อตกลง CPTPP สหรัฐยังไม่กลับเข้ามาเป็นสมาชิกทันที แต่ต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่งเพื่อจัดการปัญหาภายใน การระบาดของโควิด-19

ในค่ำคืนวันที่ 20 มกราคม 2564 “โจ ไบเดน” ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ ต่อจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” อย่างเป็นทางการ ภายหลังพิธีสาบานตนสิ้นสุดลง ไบเดนได้ประกาศเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจสำคัญตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลงทุน-สิ่งแวดล้อม-พลังงาน ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการค้า-ส่งออกของประเทศไทย ที่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกเพียงตลาดเดียวของสินค้าไทยที่มีอัตราขยายตัวอยู่ ท่ามกลางภาพรวมการส่งออกที่ติดลบ

โดย นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อมูลว่า ในปี 2563 แม้ภาพรวมการส่งออกไทยจะติดลบ -6.01% แต่สำหรับการส่งออกไปตลาดสหรัฐกลับขยายตัว 9.6% คิดเป็นมูลค่า 34,344 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 31,348 ล้านเหรียญ ล่าสุดเฉพาะเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่า 2,972 ล้านเหรียญ หรือขยายตัวถึง 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินค้ากลุ่มโควิดขายดี

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ ลอสแองเจลิส สหรัฐ ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐในปี 2564 ว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 4-6% จากปี 2563 โดยประเมินจากปัจจัยบวกที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 4.2% จากรัฐบาลใหม่นำโดย “ไบเดน” ที่เข้ารับตำแหน่งและเริ่มดำเนินนโยบายที่มีความชัดเจนในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับไบเดนยังได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้ง 2 สภา คาดว่าจะผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้สำเร็จ

ขวัญนภา ผิวนิล

ทั้งนี้ นโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็น 1 ใน 4 นโยบายเร่งด่วนของ “ไบเดน” ซึ่งประกอบไปด้วยการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความปรองดองลดความขัดแย้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง และนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยจะหวนกลับสู่การเป็นภาคีใน Paris Agreement หรือความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ ลอสแองเจลิส ได้วิเคราะห์นโยบายหลัก 4 ด้านของ “ไบเดน” แล้วพบว่า นโยบายเศรษฐกิจจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มกลาง-ล่าง ซึ่งเป็นเป้าหมายการดูแลของรัฐบาลสหรัฐ จะได้รับการแจกเงินสด 1,400 เหรียญสหรัฐ ทั้งยังมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำอีกเท่าตัวจาก 7.5 เป็น 14 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง แต่จะปรับขึ้นภาษีคนที่มีรายได้สูง 400,000 เหรียญสหรัฐ จาก 21% เป็น 28% ขณะที่นโยบายควบคุมการระบาดของโควิด-19 จะมีการออกมาตรการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ราชการ หรือในเครื่องบิน

การกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันหลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมถึงการกระจายเม็ดเงินลงไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เช่น ถุงมือยาง, หน้ากากอนามัย, ชุด PPE, ผลไม้แปรรูป, อาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงอาหารสำหรับใช้ทำอาหารที่บ้าน รวมถึงเครื่องดื่ม สินค้าเกี่ยวกับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ, สินค้าที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เช่น อุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์-อิเล็กทรอนิกส์-อุปกรณ์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ยังไม่เข้า CPTPP เวลานี้

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมสหรัฐยังเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือ หากสหรัฐกลับเข้าสู่ Paris Agreement จะส่งผลทั้งบวกและลบกับประเทศไทย กล่าวคือนโยบายนี้จะกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น อาจจะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถ EV แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรม EV ได้มากเพียงใด แต่อีกด้านหนึ่งสหรัฐอาจจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดเก็บค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซ (assessment of carbon) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ เบื้องต้นสหรัฐยังให้ความสำคัญกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างก่อน เช่น ความตกลงกับแคนาดา (USMCA) หรือกับละตินอเมริกา-กลุ่มแคริบเบียน-สหภาพยุโรป เชื่อว่าช่วงเวลานี้สหรัฐจะยังไม่ประกาศชัดเจนในเรื่องของการกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership-CPTPP)

“นโยบายสงครามการค้ากับจีน ไบเดนไม่ได้ remove 100% ในหลายประเด็นที่ไบเดนเห็นคล้ายกับทรัมป์ บางเรื่องอาจจะเดินหน้าต่อ และยังมีนโยบายลดการพึ่งพาต่างชาติ นโยบายสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมภายใน สนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึง Buy America ที่จะให้หน่วยงานราชการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตโดยสหรัฐ ซึ่งจะไม่เหมือนกับ American First เดิมของทรัมป์ซะทีเดียว เพราะทรัมป์จะเน้นดึงการลงทุนกลับมาที่สหรัฐ”

ผู้นำเข้าสหรัฐอยากมาไทย

สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ลอสแองเจลิส ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในรูปแบบ “ออนไลน์” เช่น เวอร์ชวลแฟร์หลายงาน ซึ่งก็พอมียอดสั่งซื้อเข้ามาบ้าง แต่อาจจะไม่มากเทียบเท่ากับการจัดงานแฟร์ และที่สำคัญพบว่า มีผู้นำเข้าสหรัฐส่วนหนึ่งพยายามติดต่อมา เพราะอยากเดินทางมาที่ประเทศไทยมาร่วมงานแฟร์

“กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาคร ยังไม่ได้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มประมงและอาหารจากไทย ยังไม่มีใครยกเลิกออร์เดอร์ แต่ปัญหาที่พบคือ เรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปรับขึ้นราคาค่าระวางเรือ ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าจากปกติ 1-2 สัปดาห์ และมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 3-5 เท่า ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายก็มีผู้ค้าปลีกสหรัฐปรับขึ้นราคาจำหน่ายข้าวสารหอมมะลิจากไทยแล้ว เช่น ข้าวสารบรรจุถุงปรับขึ้น 16%” นางขวัญนภากล่าว

การปล่อยก๊าซ-แรงงาน-ค่าเงิน

ด้าน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบและการออกมาตรการ QE จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐ

แต่นโยบายที่ไทยต้องเฝ้าระวังก็คือ มาตรการเรื่องสิ่งแวดล้อมของไบเดน ที่อาจจะเป็นอุปสรรคและเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ส่งออก ซึ่งไทยต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ว่าจะดำเนินการได้ในกี่ปี และภาคเอกชนแต่ละบริษัทสามารถทำได้หรือไม่

ส่วนนโยบายด้านแรงงานสหรัฐยังคงจัดทำรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ หรือ TIPs Report ต่อไป หากไทยมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายก็จะต้องถูกปรับลดสถานะ รวมถึงเรื่องที่สหรัฐขอให้ไทยแก้ไขกฎหมายแรงงาน การให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ที่จะมีผลต่อการพิจารณาต่อสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของไทยที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะทรัมป์ หรือไบเดน สุดท้ายไทยอาจจะต้องถูกตัดสิทธิ GSP

“ที่น่าห่วงอีกเรื่องก็คือ สหรัฐจับตามองเรื่องการแทรกแซงค่าเงินที่ส่งผลให้สหรัฐขาดดุลการค้า ทั้งยังจะมีการออกมาตรการ QE อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง กระทบต่อค่าบาททำให้แข็งค่าขึ้น ปัจจุบัน 30 บาท/เหรียญ ก็แทบจะไม่มีกำไรอยู่แล้ว แต่การมองว่าค่าบาทอาจจะแข็งไปถึง 28 บาท/เหรียญ ไทยยังเกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ประมาณ 900 ล้านเหรียญ และไม่มีการออกไปลงทุนข้างนอกด้วยจะดำเนินการอย่างไร ทั้งยังมีปัญหาต่อเนื่องเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนอีก และหากบาทแข็งไปอีกก็ต้องทบทวนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกใหม่ จากเดิมที่เคยมองว่าบวก 3-5%” น.ส.กัณญภัคกล่าว

อุตฯเหล็กหวั่นมาตรการ 232

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มเหล็กยังกังวลกรณีที่สหรัฐยังคงใช้นโยบายตามมาตรการ Section 232 ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กจากไทย 25% ต่อเนื่องนับจากปี 2561 และก่อนหน้านี้ก็ได้ตัดสิทธิ์ GSP เหล็กไทยไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปตลาดสหรัฐ โดยในปี 2563 ไทยส่งออกท่อเหล็กถึงปีละ 90,000 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับปี 2562 “ตอนที่นายไบเดนหาเสียงยังไม่ได้รับปากว่า จะยกเลิกมาตรา Section 232 ไบเดนเพียงแต่บอกว่า จะเจรจากับคู่ค้ามากขึ้น คงหมายถึงว่าอาจมีการเจรจาเพื่อให้ข้อยกเว้นกับบางประเทศ บางผลิตภัณฑ์เท่านั้น” นายนาวากล่าว