ลุ้นไทยทวงแชมป์ส่งออก เร่งออก “12 พันธุ์ข้าวใหม่”

“อาชว์ชัยชาญ” อธิบดีกรมการข้าวคนใหม่ ทวงแชมป์ส่งออกข้าวไทย เร่งปลดล็อกงานวิจัยพันธุ์-ลดเวลารับรองพันธุ์ข้าว แง้มปี 2564 จ่อขึ้นทะเบียน 12 สายพันธุ์

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายการพัฒนางานกรมการข้าวหลังรับตำแหน่งใหม่ว่า ปีนี้จะเร่งรัดการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวใหม่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียน 12 สายพันธุ์ เนื่องจากการวิจัยพันธุ์ข้าวถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องมุ่งเป้าเพื่อให้ตอบสนองตามความต้องการของตลาด และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว
อาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว

ไม่ควรใช้เวลาเกิน 5 ปี จากที่ผ่านมากว่าจะสามารถนำมาสู่ตลาดใช้เวลากว่า 8 ปี เพราะยังมีขั้นตอนเฉพาะในบางเรื่อง เช่น ข้าวพันธุ์ กข 97 ที่เพิ่งรับรองไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังติดปัญหาไม่สมบูรณ์ต้องใช้เวลาทดสอบตลาด ซึ่งข้อนี้ต้องมีขั้นตอนเฉพาะ เป็นต้น

“ที่ผ่านมามีคนถามว่าการวิจัยพันธุ์ข้าวเป็นอุปสรรคการแข่งขัน ทำไมช้า เวียดนามหรือเพื่อนบ้านแซงหน้าข้าวไทย ข้อนี้ต้องแก้ไขทั้งระบบ งานวิจัยต้องเป็นสารตั้งต้นที่จะฟื้นเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน ผมจะเร่งรัดมาต่อยอด ที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนอาจเกิดความล่าช้า บางส่วนกังวล เมื่อวิจัยแล้วมาลงแปลงจะเกิดการปะปน ซึ่งระยะหลังพบว่าปริมาณข้าวปนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการส่งออกข้าวที่ลดลง ภัยธรรมชาติส่งผลให้ผลผลิตลดน้อยลง รวมถึงคุณภาพ ความหอม”

ขณะเดียวกันงานวิจัยต้องมุ่งเป้าปรับแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด เร่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถนำไปใช้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ข้าว

เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวทั้ง 28 ศูนย์ ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาข้าว 5 ประเภท ที่ได้จำแนกตามกลุ่มตลาดอย่างชัดเจน คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และข้าวตลาดเฉพาะ ซึ่งเป็นข้าวที่ตลาดยังมีความต้องการบริโภคสูง และยังมีการผลิตน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของกรมการข้าว คือ จำนวนบุคลากรมีจำกัดเพียง 1,000 คน เทียบกับจำนวนชาวนาทั้งประเทศมี 5 ล้านคน ทางกรมการข้าวก็ได้ปรับแผนเเบ่งส่วนไปบูรณาการเชิงรุก บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชน เช่น ได้หารือกับกรมส่งเสริมการเกษตรให้เข้าถึงพื้นที่ ช่วยดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยี

ล่าสุดได้หารือร่วมกับนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และนายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงอุปสรรคของการแข่งขันข้าวไทย คือ การวิจัยพันธุ์ และการต่อยอด สะท้อนปัญหาการขาดอัตลักษณ์ของข้าวแต่ละพันธุ์ เพราะเมื่อมีการวิจัยและพัฒนามาแล้วมีการปลูกจนปะปนกัน เช่น แต่เดิมเคยมีข้าวนาปีและนาปรัง แต่ปัจจุบันปะปนกันไปหมด และปัญหาประสิทธิภาพการผลิตลดต่ำ ปริมาณผลผลิตต่อไร่น้อย จึงทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น ต้องมีการแก้ไข

“หลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวจำนวนมาก พันธุ์ กข 22 พันธุ์ กข 18 เมื่อปลูกมากเกิดการปนกันอัตลักษณ์ข้าวเหนียวไทยหายไป พันธุ์ฟ้าประทานหายไป ปีนี้ พันธุ์ กข 6 เกือบหมดหายไป จากปัญหาผลผลิตต่อไร่ไม่สูง ทำให้ต้นทุนการปลูกสูง เกษตรกรจึงมีรายได้ไม่พอ ทางสมาคมเสนอให้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวคุณภาพดี เทียบเท่าข้าวเหนียว กข 6 ที่มีผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเพื่อรองรับการใช้ข้าวเหนียวเชิงอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น หากสามารถทำได้จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”