หวั่นก๊าซขาดแคลนรอบใหม่ พม่า-เอราวัณทำค่าไฟแพง

ค่าไฟแพง

3 ปัจจัยก่อวิกฤตก๊าซธรรมชาติ ทั้งความรุนแรงในเมียนมา-แหล่งผลิตเอราวัณสะดุด-เรียกรับก๊าซในอ่าวไทยมากเกินไป หวั่นเกิดเหตุฉุกเฉิน เล็งนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาทดแทน ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพุ่งพรวด กระทบค่าไฟฟ้าประชาชนแน่ “สุพัฒนพงษ์” บอกอย่าห่วง รัฐบาลเตรียมแหล่งก๊าซสำรองพร้อม

การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าของประเทศกำลังเกิดวิกฤตขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งจากปริมาณก๊าซที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในแหล่งผลิตอ่าวไทย จากการเรียกปริมาณก๊าซส่งมอบสัญญา (DCQ) มากจนเกินไป

ความไม่แน่นอนของการผลิตก๊าซจากแหล่งหลัก “เอราวัณ” ที่ผู้รับสัญญารายใหม่ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ และความเสี่ยงล่าสุดจากความวุ่นวายทางการเมืองในเมียนมา ที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนอาจส่งผลกระทบกับการรับก๊าซที่มาจากเมียนมาด้วย

กกพ.เตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับวิกฤตการณ์ก๊าซธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุคือ 1) การผลิตก๊าซจากแหล่งก๊าซหลักในอ่าวไทยคือ “แหล่งเอราวัณ” ในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2565 ไม่มีความต่อเนื่อง

เนื่องจากบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (PTTEP ED) ในฐานะคู่สัญญาในระบบแบ่งปันผลผลิตรายใหม่ ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61) ของผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิตได้ ส่งผลให้การ “คงปริมาณ” การผลิตก๊าซขั้นต่ำไว้ที่วันละ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน อาจจะไม่เป็นไปตามแผนและกระทบกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จะใช้โดยรวมได้

กับ 2) ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมา ขณะนี้ก่อให้เกิด “ความเสี่ยง” ต่อการรับ-ส่งก๊าซจากแหล่งผลิตสำคัญ 3 แหล่งคือ “ยาดานา-เยตากุน-ซอติก้า” ที่ใช้อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกของประเทศไทย

“กกพ.ได้ประสานกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจจะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยทั้ง 2 กรณีจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซ เพราะสามารถนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาทดแทนได้ แต่ประเด็นที่เราห่วงก็คือ ราคาค่าไฟฟ้า อาจจะปรับสูงขึ้น ดังนั้นต้องมีการเตรียมบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นทั้ง 2 กรณี” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าว

สผ.เข้าแหล่งเอราวัณไม่ทันแน่

การประชุมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่อาจจะเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาอีกครั้ง ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเองก็ “ยอมรับ” ว่า เกิดปัญหาการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition period) เพื่อดำเนินการต่อเช่นกัน โดยกรมได้ประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจรจาโดยเร็วที่สุด

ด้านแหล่งข่าวในวงการพลังงาน แสดงความเห็นว่า การไม่สามารถเข้าพื้นที่ของบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ แม้ว่าหน่วยงานรัฐจะ “ปฏิเสธ” ว่าไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการระงับข้อพิพาทในอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับปัญหาการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมเก่าที่บังคับให้ผู้รับสัมปทานเดิมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น

แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏออกมาในลักษณะของผู้รับสัมปทานรายเดิมไม่ให้ความร่วมมือกับคู่สัญญาระบบแบ่งปันการผลิตรายใหม่เข้าพื้นที่ ซึ่งจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีครึ่งในการ “รับช่วงต่อ” ในการรักษาระดับการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซสำคัญในอ่าวไทย ให้ได้ตามเป้าหมายคือ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วันไว้ให้ได้ เพื่อที่จะไม่ให้กระทบกับปริมาณความต้องการใช้ก๊าซของประเทศ

“เมื่อดูจากระยะเวลาที่เหลือก่อนที่ระบบสัมปทานแหล่งเอราวัณของเชฟรอนจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2565 ก็จะเห็นได้ชัดว่า บริษัท ปตท.สผ.จะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะสำรวจและผลิตทั้งแหล่งเดิมและหาเพิ่มในแหล่งใหม่ เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซขั้นต่ำที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วันไว้ได้ ประกอบกับสถานการณ์การผลิตก๊าซในอ่าวไทยในขณะนี้ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ดยตัวเลขการเรียกรับก๊าซในอ่าวไทย (daily contract quantity หรือ DCQ) ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 2,700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ซึ่งจัดเป็นปริมาณเรียกรับก๊าซที่สูงมาก สวนทางกับนโยบายที่จะรักษาระดับการผลิตก๊าซในอ่าวไทยให้ยืนระยะเวลาให้นานที่สุด หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดแผน PDP ฉบับปัจจุบันก่อนที่ปริมาณก๊าซจะหมดจากอ่าว” แหล่งข่าวกล่าว

รองนายกฯบอกเตรียมรับมือไว้แล้ว

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่บริษัท ปตท.สผ. PTTEP ED ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งแท่นขุดเจาะ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทเชฟรอน ซึ่งอาจจะกระทบความต่อเนื่องการผลิตนั้น ยืนยันว่าทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน

“ไม่ต้องห่วงว่าการผลิตจะสะดุดหรือทำให้ขาดแคลนก๊าซหรืออะไร เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนรองรับไว้หมดแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะนำเข้าก๊าซเข้ามา ส่วนประเด็นที่ว่า ราคาก๊าซนำเข้าจะแพงกว่าที่ ปตท.สผ.เสนอราคาขายตอนแข่งประมูลและจะไปกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้านั้น คุณรู้ได้อย่างไรว่า แพง การนำเข้าอาจจะได้ราคาถูกกว่าก็ได้ นอกจากนำเข้าแล้วยังมีแหล่งก๊าซอื่นที่เตรียมสำรองในประเทศผลิตมาใช้แทนได้อีกทางหนึ่ง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาทั้งหมดที่อาจจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ก๊าซธรรมชาติจนกระทบต่อค่าไฟฟ้านั้น ทั้งในระยะสั้นจากกรณีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในเมียนมา และระยะต่อมาจากกรณีแหล่งเอราวัณและการเรียกรับก๊าซในอ่าวไทยมากเกินไป

อาจจะสะท้อนความกังวลได้จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยจัดหาอยู่ในปัจจุบัน โดยก๊าซจากอ่าวไทยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญ/ล้าน BTU, ก๊าซจากเมียนมา 3 แหล่งเฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญ/ล้าน BTU และก๊าซ LNG นำเข้าอยู่ที่ 10 เหรียญ/ล้าน BTU

“จะเห็นได้ว่า ก๊าซจากอ่าวไทยในขณะนี้มีราคาถูกที่สุดจนเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมต้องมีการเรียกก๊าซที่ผลิตจากแหล่งในอ่าวไทยสูงสุด ก็เพราะต้องการลดต้นทุนทางด้านพลังงาน (โรงไฟฟ้า-ปิโตรเคมี) ลงจากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด รับรองเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ก๊าซจากพม่ามีราคาถูกรองลงมา แต่ก๊าซ LNG นำเข้าขณะนี้มีราคาแพงที่สุด

ดังนั้นหากเกิดกรณีการส่งก๊าซจากพม่าสะดุดหยุดลง หรือการผลิตในแหล่งเอราวัณไม่เป็นไปตามแผน แน่นอนว่า ต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาทดแทนและเป็นการนำเข้าแบบเร่งด่วน ราคาขายก๊าซ LNG ก็จะไม่ใช่ 10 เหรียญ แต่อาจจะเป็น 14-15 เหรียญ เพราะต้องการใช้ทันที ถึงตอนนั้นจะกระทบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟของประชาชนทันที” แหล่งข่าวกล่าว