กลุ่มไบโอเทค ประเดิมต้นปี’64 ได้บีโอไอกว่า 2,400 ล้าน

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ

บีโอไอ เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อนุมัติส่งเสริมลงทุนไตรมาสแรก มูลค่ารวมกว่า 2,400 ล้านบาท หวังผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยฐานความรู้

วันที่ 5 เมษายน 2564 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2564 การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี (ม.ค.-มี.ค. 64) บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วมูลค่ารวม 2,417 ล้านบาท โดยโครงการกลุ่มไบโอเทคที่ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอในไตรมาสแรกอยู่ในสาขาการแพทย์ อาหาร และ พลาสติกชีวภาพ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด โครงการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์ และยีนบำบัด เพื่อรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก เช่น เคมีบำบัด การฉายรังสี เป็นต้น โดยจัดเป็นยาที่ใช้รักษาโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด

บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นสตาร์ทอัพไทย โครงการผลิตยาจากเทคโนโลยีชีวภาพ หรือชีวเภสัชภัณฑ์ เช่น วัคซีน ยาในกลุ่ม MONOCLONAL ANTIBODY และ THERAPEUTIC PROTEIN ที่ได้จากการใช้ต้นยาสูบเป็นเจ้าบ้าน (HOST)

บริษัท เคียววะ ไบโอเทคโนโลยีส์ จำกัด โครงการผลิต HUMAN MILK OLIGOSACCHARIDE (HMO) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่เป็นองค์ประกอบในน้ำนมแม่ และทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียดีในลำไส้ จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA(POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติก PHA เช่น ถุง ขวด ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกิจการที่นำของเหลือทางการเกษตร เช่น ใบพืช ผักเสียเหลือทิ้งจากแปลง และของเหลือจากกระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น เปลือกกล้วย เปลือกมะม่วง เปลือกสับปะรด กากถั่วเหลือง เป็นต้น มาพัฒนาเป็นวัตถุดิบในการผลิต PHA ได้ โดยโครงการมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้วย


“กิจการด้านไบโอเทค เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยใช้จุดแข็งด้านภาคเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพของไทยไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยี”