“แล้งปีนี้” ไทยต้องรอด แต่อย่าวางใจ มิ.ย. ฝนทิ้งช่วง

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าสภาพภูมิอากาศในปี 2564 จากแบบจำลองของ NOAA คาดการณ์มีโอกาสถึง 60% ที่จะเปลี่ยนจากปรากฏการณ์ลานิญา (ฝนมากน้ำมาก) ทำเป็นสภาวะปกติตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ทว่า ในเดือนมิถุนายนกลับเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ขณะที่ปริมาณฝนก็ไม่ได้ตกเพิ่มขึ้นมากไปกว่าปีปกติเท่าใดนัก จนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะต้องบริหารจัดการน้ำจาก “ต้นทุนน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่” ที่ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันเป็นปีที่ 4 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายสมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต

ภาพรวมการจัดการน้ำ

ช่วงนี้อิทธิพลจากพายุฤดูร้อน ทำให้มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,451 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,748 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ของแผน

ดังนั้น ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้และมีน้ำสำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

อีก 30 วันสิ้นสุดฤดูฝน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุดก่อนประกาศเข้าสู่ช่วงหน้าฝนปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แม้บางพื้นที่มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึง 2.79 ล้านไร่ กรมชลประทานก็กำชับได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มปลูกแล้วในวัน 1 เมษายนที่ผ่านมา และสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม

ห่วงฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

จากการประเมินไว้ว่า จะเกิดปรากฏการณ์ลานิญา นั่นคือสาเหตุว่า จริง ๆ แล้ว ปีนี้แล้งจึงไม่น่าห่วง ผมยืนยันและมั่นใจว่า เราจะผ่านแล้งไปได้แน่นอนเพราะฝนจะมาเร็วกว่าทุกปี แต่กังวล “ฝนทิ้งช่วง” มากกว่า ทำยังไงที่ภาคกลางจะเก็บน้ำให้มากกว่าเดิม เพราะเหลือเวลาประมาณ 1 เดือนจะเข้าสู่ฤดูฝน

โดยในปีนี้คาดว่า ฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% เนื่องจากปีที่แล้วฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%

แต่ว่าเมื่อดูจากการเตรียมการบริหารจัดการน้ำจากเดิมมีการคาดการณ์ว่า ภาคกลางหากสิ้นเดือน เม.ย. น้ำจะเหลือแค่ 1,500-1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะส่งผลอย่างมากตอนฝนทิ้งช่วง ดังนั้นจะทำยังไงให้สามารถกักเก็บได้น้ำถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนถึงสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อจะให้เพียงพอไปจนถึงฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน

อย่างที่ทราบน้ำน้อย 2 เขื่อนใหญ่น้ำน้อยสะสมมา 3 ปี ซึ่งหมายความว่า จะส่งผลต่อปี 2564/65 จะมีปัญหาตามไปด้วย คงต้องดูว่าฝนปีนี้จะเข้ามาบริเวณไหน หากฝนเข้ามาที่ภาคตะวันตกเหมือนเดิมหรือภาคอีสานตอนบนก็ยิ่งจะเป็นผลดียิ่งขึ้น

เพราะจะช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้ามีฝนเข้ามาในบริเวณพื้นที่อีสานเหนือตอนล่าง อันนี้ต้องระวังเนื่องจากอาจส่งผลให้คุมระดับน้ำไม่อยู่แล้วเกิดน้ำท่วมได้

ส่วนในปีนี้ ภาคเหนือปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้วประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ภาคตะวันตกไม่ดีขึ้นหรือน้ำน้อยกว่าเดิมประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. นอกนั้นปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ส่วนภาคใต้ปีนี้ไม่น่าห่วง ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือห่วงตอนบน ลำปาว-น้ำอูน ปลูกพืชเกินแผนไปเยอะมาก

ดังนั้น ก่อนเข้าหน้าฝนปีนี้ต้องมีการกำหนดรัดกุมว่าตรงไหนฝนมาจึงจะสามารถประกาศปลูกพืชได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา ที่ทำได้คือ พยายามกักเก็บน้ำขอความร่วมมือ เพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กและบ่อบาดาลทั่วประเทศให้มากที่สุด

ปีนี้เราห่วงว่าฝนจะทิ้งช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ถ้าไม่มีพายุเข้ามาเลยก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้ได้ คาดว่าพายุปีนี้จะใกล้เคียงปีที่แล้ว

เบื้องต้นปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้า 1 ลูก ช่วงกลางปีโดยรวมน้ำปีนี้มีน้ำมากกว่าปีกลาย (ปี 2561/62) ซึ่งมีน้อยมาก จะส่งผลต่อการเพาะปลูก ดังนั้นต้องเก็บน้ำให้ได้ในกลางเดือนพฤษภาคมให้มากที่สุด ต้องรีบกักเก็บน้ำทุกเขื่อนให้มากขึ้น

หลายเขื่อนยังมีปัญหาน้ำน้อย

มี 9 เขื่อนที่ปริมาณน้ำน่าเป็นห่วง ที่มีน้ำต้นทุนต่ำ 15% (กราฟิก) ดังนั้น โดยภาพรวมขณะนี้มี 18 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ยังต้องจับตา โดยเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% 1) ภาคเหนือ ได้แก่ เขื่อนแม่จาง เขื่อนแม่มอก เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา บึงบอระเพ็ด

2) ภาคอีสาน ได้แก่ หนองหาร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ 3) ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ 4) ภาคตะวันออก ได้แก่ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล และ 5) ภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

แนวทางรับมือฝนทิ้งช่วง

อย่างไรก็ดี ถ้าฝนทิ้งช่วงจะลำบาก ตอนนี้ต้องหาทางเก็บน้ำให้ได้ ต้องเร่งแข่งกับเวลา รีบทำ ขุดลอก เก็บน้ำให้มากยอมรับว่า แหล่งเก็บน้ำยังไม่เพียงพอสายป่านไม่ยาวพอ ส่วนใหญ่จะเป็นอ่างขนาดเล็กเก็บได้มากสุดแค่ 1 เดือน ซึ่งไม่พอ และไม่ยั่งยืน

แนวทางตอนนี้เราพยายามเพิ่มแหล่งขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่เก็บน้ำได้ 2 เดือนให้พอ ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ได้เสนอของบฯกลาง ยังไม่ได้รับการอนุมัติประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อนำน้ำมาใช้พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งและพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งงบประมาณที่รออยู่นี้รัฐบาลต้องนำไปช่วยเหลือปัญหาโควิด-19 ก่อน ดังนั้น พื้นที่ไหนสามารถช่วยเหลือส่งน้ำผ่านกระทรวงมหาดไทย-องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือประสานจังหวัดได้ก็ให้ทำทันทียังถือว่าพอไปได้

ปีนี้ทางการประปาภูมิภาคยังไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง เนื่องจากยังสามารถแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่ได้ด้วยการส่งน้ำประสานงานนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ร่วมกันได้ และวางแผนชัดเจนว่า พื้นที่ตรงไหนจะแล้งเราระบุไว้ก่อนเลย

ได้สั่งการกรมชลประทานไว้หากจะประกาศอะไรออกมาต้องดำเนินการตามประกาศ ควบคุมปัญหาให้น้อยที่สุด เพียงแต่ว่าบางพื้นที่ยังไม่มีเจ้าภาพ อาทิ แหล่งน้ำบางพื้นที่ไม่ส่งคนมาประชุม หรือบางพื้นที่มีปัญหาการประปา สทนช.ต้องประสานทันที


และทุกวันนี้หากใครขอน้ำบ่อบาดาลก็ขอสูบได้ ดังนั้น ภัยแล้งปีนี้จะผ่านไปแน่นอน เพียงแต่ต้องดูฤดูฝนที่จะมีฝนทิ้งช่วง 2 เดือน