จดบัญชีทรัพย์สินทางปัญญา เสริมแกร่ง SMEs สู่ตลาดโลก

จด

การเสวนาในหัวข้อ ตีแตก IP พลิก SMEs สู่ตลาดโลก ในวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดขึ้น พร้อมประเทศสมาชิกองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) กว่า 100 ประเทศทั่วโลก

เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เห็นถึงความสำคัญในงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเพิ่มมูลค่าการค้า ยกระดัยการแข่งขันและป้องกันการละเมิดงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีการแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกับภาคเอกชน

จดคุ้มครองผลงาน-ต้นทุนสูง

นางสาวศิริลักษณ์ ณรงค์ตะณุพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิเควเตอร์ เพียว เนเจอร์ จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติ ตามเครื่องหมายการค้า PiPPER STANDARD (พิพเพอร์ สแตนดาร์ด) และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เปิดเผยว่า บริษัทได้จดเครื่องหมายการค้าไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ไปกว่า 30 สิทธิบัตร ทั้งในประเทศที่ได้ส่งออกไปและยังไม่มีการส่งออกไป เนื่องจากมองเห็นถึงโอกาสทางการค้า และเพื่อให้เกิดการคุ้มครองในอนาคต ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องการทำความสะอาด และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารธรรมชาติ เมื่อผลงานที่บริษัทได้คิดค้นวิจัยออกมาได้ เพื่อป้องการการละเมิดบริษัทจึงเข้าจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ภายใต้แบรนด์ของบริษัทเอง”

“ซึ่งการจดทะเบียนจะสามารถช่วยป้องกันผลงานของเราได้ แต่เราก็พบว่าหลังจดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ก็ยังมีการละเมิดสินค้า เมื่อเราส่งออก เช่นในฮ่องกง ไต้หวัน และจีน เราก็ดำเนินการตามกฎหมายแจ้งไปยังผู้ละเมิดให้ยกเลิกการละเมิดสินค้าเราได้รับการคุ้มครอง แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการจดทะเบียนอาจเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเอง”

เตือนระวังค้าผ่านออนไลน์

นายจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้เพื่อการส่งออกครบวงจรมากว่า 40 ปี จดเครื่องหมายการค้า DEESAWAT และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า เดิมบริษัทจะรับจ้างผลิตเป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะหันมาผลิตส่งออก โดยทำแบรนด์เพราะมองว่าหากไม่พัฒนาสินค้าก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะหาแหล่งผลิตที่ถูกกว่าทั้งจากจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

หลักการของบริษัทจะไม่ได้จดสิทธิบัตรทุกรายการ แต่จะเลือกจดเฉพาะชิ้นงานออกแบบที่เด่นและสำคัญแต่ละรายการ หรือแต่ละตลาด เพราะต้องยอมรับว่าการจดสิทธิบัตรล้วนเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่การจดก็เพื่อให้เป็นจุดแข็งในการทำตลาด เพื่อให้เห็นว่าสินค้าที่มาจากโรงงานบริษัท “ไม่ได้กระจอก” และการจดสิทธิบัตรนั้น ทำให้บริษัท “เหมือนมีใบอนุญาตถือปืน” เอาไว้ป้องกันตัวเอง คือ คุ้มครองสินค้าเราจากผู้ละเมิด

“ปัจจุบันมีเรื่องโซเชียลมีเดีย และการค้าออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ การที่มีการคุ้มครองงานย่อมเป็นเรื่องที่ดี และที่สำคัญการทำข้อตกลงกับคู่ค้าก็ต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะเมื่ออนาคตหากไม่ได้ทำการค้ากันแล้ว คู่ค้าจำเป็นต้องคืนข้อมูลต่าง ๆ ช่องทาง สินค้าของเรากลับคืนมาทั้งหมด เพื่อป้องกันการละเมิดด้วย”

เซ็ปเป้จด IP กว่า 90 ประเทศ

นายฉัตริน จีรังสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาวุโส บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของเครื่องหมายการค้า SAPPE และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทนั้นจดเครื่องหมายการค้าไปกว่า 90 กว่าประเทศ ในประเทศไทยจดไป 500 กว่ารายการ ในจีนจดไป 170 รายการ

ดังนั้น หากไปทำตลาดที่ใดก็จะไปจดเครื่องหมายการค้าที่นั้น รวมถึงบางประเทศที่ยังไม่ได้ไปทำตลาดด้วย แต่มองถึงโอกาสในการทำตลาดในอนาคตจึงต้องจดเพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิด

“บริษัทมีประสบการณ์เมื่อไปออกแสดงสินค้าที่จีน และเมื่อเห็นโอกาสในการทำตลาดจึงกำลังจะเข้าจดเครื่องหมายการค้า แต่พบว่ามีการจดเครื่องหมายการค้าของสินค้าของบริษัทไปแล้ว ซึ่งมีการจดไปในวันเดียวที่สินค้าได้นำไปออกแสดงสินค้าทำให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ หรือแบรนด์โมกุโมกุของบริษัท เจ้าของโดยผู้ประกอบการจากอียูละเมิดสินค้าของบริษัท โดยทำการจ้างผลิตสินค้าบริษัทเพื่อนำมาจำหน่าย ซึ่งบริษัทเองก็ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายในทันที”

อย่างไรก็ดี แม้การจดเครื่องหมายการค้า จำสิทธิบัตรจะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แต่ก็ต้องการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและคุ้มครองและเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การส่งออก ซึ่งหากมีข้อติดขัดหรือข้อสงสัยก็เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้คำแนะนำในเรื่องนี้ได้ เพราะการดำเนินการทางคดีเมื่อพบว่ามีการละเมิดสินค้านั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

พาณิชย์เพิ่มจุดบริการ

นายภเชศ จารุมนต์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ ซึ่งแต่ละรายการมีกฎระเบียบการคุ้มครองที่ต่างกัน การจดทะเบียนจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า คุ้มครองชิ้นงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือมีการละเมิด

ทั้งนี้ กรมได้เข้าเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริด ซึ่งเป็นความตกลงที่จัดตั้งระบบการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยผ่านสำนักระหว่างประเทศ (International Bureau หรือ IB) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และ PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งเป็นความตกลงสำหรับการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศสมาชิก เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอในจุดเดียวช่วยให้สามารถคุ้มครองงานในต่างประเทศได้


อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะมีขั้นตอนและต้นทุน แต่ทางกรมได้จัดให้มีหน่วยงานคอยให้คำแนะนำในการจดทะเบียนตามความเหมาะสมของสินค้า และในเร็ว ๆ นี้ จะมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านทรัพย์ทางปัญญาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย