“ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯป้ายแดง

สัมภาษณ์พิเศษ

ภายใต้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการส่งออก นับเป็นความท้าทายของผู้ส่งออกไทย จากสถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ความต้องการสินค้าเริ่มดีขึ้น สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องเตรียมพร้อมเพื่อสร้างการเติบโตให้ภาคการส่งออกไทยในปี 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คนที่ 7 ที่เพิ่งส่งไม้ต่อนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ในมุมมองการทำงานในช่วง 2 ปีนับจากนี้ในวาระการทำงานปี 2564-2565

นายชัยชาญ เจริญสุข
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ความท้าทายโควิด

การเข้ามาทำหน้าที่ถือว่าเป็นความท้าทายในการทำงาน แต่ไม่มีความหนักใจเพราะเรามีพาร์ตเนอร์ที่ดีจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะทำหน้าที่ผลักดันการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นประสิทธิผลของการทำงานในระยะเวลาที่ทำหน้าที่นี้ เดิมนั้นตนเคยทำงานที่บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) โดยดูแลในเรื่องของการส่งออกก่อนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้

โดยคณะกรรมการชุดใหม่มีนโยบาย “Click to Go” ที่จะขับเคลื่อนโดยเน้นสร้างความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกและผู้ส่งออกไทย เติบโตและแข่งขันได้หลังวิกฤตโควิดผ่านพ้น ก้าวไปสู่ trading nation โดยมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ strategic competitive trade วิเคราะห์ ติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจเชิงลึก

และการจัดทำเขตการค้าเสรีกรอบต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน logistics and international trade facilitation การขจัดอุปสรรค ลดขั้นตอนด้านการค้าระหว่างประเทศตลอดโซ่อุปทาน global value chain alliance กระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายกับองค์กรพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของผู้ส่งออก capacity building upskill and reskill training เพิ่มทักษะใหม่ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมทั้งคนและองค์กร

ทิศทางส่งออกครึ่งปีหลัง

ครึ่งปีหลังจากนี้มองว่าโอกาสการส่งออกของไทยมีทิศทางและแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศดีขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการและการนำเข้าสินค้าทั้งในตลาดสหรัฐ จีน ยุโรป ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อการผลิตการบริโภคของต่างประเทศเริ่มกลับมา ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะรองรับการเติบโตดังกล่าวได้”

สำหรับสินค้าเด่นที่เป็นที่ต้องการยังเป็นสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ทั้งยังเป็นที่ต้องการเพื่อนำไปผลิตถุงมือยางและยางรถยนต์ เป็นต้น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเนื่องจากความต้องการผลิตเอทานอล ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก เป็นต้น

ซึ่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีโอกาสเติบโตอย่างมาก ขณะที่สินค้าที่น่าห่วง เช่น ข้าว และน้ำตาลยังเป็นสินค้าที่คาดว่าการส่งออกยังคงชะลอตัวจากปัจจัยด้านราคาและสิ่งทอ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวัตถุดิบสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น กระดาษ เหล็ก สเตนเลส เม็ดพลาสติก และน้ำมัน โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่อยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งทิศทางของราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง โอกาสที่สินค้าจะขาดแคลนก็มีสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแนวทางแก้ไข

เป้าหมายส่งออก 6%

“การส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่าจะโต 5-7% ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2564 โอกาสการส่งออกไทยจะขยายตัว 4-6% ดูปัจจัยเศรษฐกิจของต่างประเทศแล้ว และปัจจัยภายในประเทศ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เลวร้าย ยังสามารถควบคุมดูแลได้ การกระจายวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้

ค่าเงินอยู่ที่ 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอต่อความต้องการ เอกชน ภาครัฐบริหารจัดการได้เพื่อใช้ในการส่งออกสินค้าของไทย แรงงานมีปริมาณเพียงพอต่อกำลังการผลิต

“ต้องยอมรับว่าจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาได้ ในภาคอุตสาหกรรมความต้องการแรงงานการผลิตประมาณ 30-40% เพื่อรองรับการผลิตสินค้า เพื่อการส่งออก โดยภาพรวมแล้วกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 60% ขณะนี้ยังขาดแคลนอยู่โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ต้องหาแนวทางการแก้ไขต่อไป“

พร้อมกันนี้ จะผลักดันให้ไทยเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะไทย-อียูเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งออกซึ่งก็จะทำงานอย่างเต็มที่


ส่วนปัญหาโควิด-19 เอกชนยังเชื่อมั่นรัฐบาลว่าสามารถดูแลและจัดการการกระจายของวัคซีนได้เป็นอย่างดี และมีเพียงพอแก่ประชาชนจากแผนการจัดการที่รัฐบาลที่ร่วมหารือกับภาคเอกชน คาดหวังว่าจะเดินหน้าไปตามแผนงานเพื่อสถานการณ์ของประเทศไทยที่น่าจะกลับมาดีขึ้น