ผ่าแผนค้าชายแดน Q2 พาณิชย์ดันยอด 1.4 ล้านล้านบาท

ด่านบ้านแหลม จันทบุรี

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อไทยและเพื่อนบ้าน จนทำให้การเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแค่ 46 แห่ง จาก 97 แห่ง

แต่กลับพบว่าสถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้ยอดค้าชายแดน 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 526,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.74% เป็นการส่งออก 314,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.16% และการนำเข้า 212,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.71% โดยไทยยังคงได้ดุลการค้าต่อเนื่องที่ 101,976 ล้านบาท

ตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้ “ขับเคลื่อน” การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและค้าผ่านแดน ไปยังตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ จีน เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 14 แผนงานหลักของกระทรวงพาณิชย์ปี 2564

โดยเน้นทำงานเชิงรุกจัดกิจกรรมในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าไทยและลดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินการเปิดด่านเพื่อเสริมสร้างมูลค่าการค้าชายแดน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นำทีมหารือกับหน่วยงานรัฐและเอกชน 24 หน่วยงาน พร้อมทั้งกำหนดเป้ามูลค่าการค้าชายแดน/การค้าผ่านแดนของไทยประจำปี 2564 ว่าจะขยายตัว 3-6% จากปี 2563 มีมูลค่า 1.32 ล้านล้านบาท เป็น 1.36-1.40 ล้านล้านบาท

โดยมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จากปัจจัยบวกที่สะท้อนจากทิศทางสถิติการค้าชายแดน ช่วง 4 เดือนแรกเติบโตก้าวกระโดดกว่า 26% โดยเฉพาะสินค้าผลไม้อย่างทุเรียน ลำไย มังคุด เป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อนบ้านทั้งจีน เวียดนาม และสิงคโปร์

และช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะเปิดด่านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น อาทิ จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจมป๋อง จ.เชียงราย จุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือนครพนม จ.นครพนม และจุดผ่านแดนถาวร บ้านปากแซง จ.อุบลราชธานี เป็นต้น และที่สำคัญกร

เตรียมแผนเร่งรัดจัดมหกรรมการค้าชายแดนทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ หวังเป็นช่องทางกระตุ้นความต้องการสินค้าไทยอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ กรมได้เตรียมแผนบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดน 8 ครั้งใน 8 จังหวัด คือ เชียงราย สงขลา สระแก้ว นครพนม จันทบุรี ยะลา แม่ฮ่องสอน และมุกดาหาร เพื่อให้มีงานแสดงและจัดจำหน่ายสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การสัมมนาให้ความรู้ และการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดแนวทางลด/แก้ไขปัญหาการค้าชายแดนต่าง ๆ และหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หากยังไม่คลี่คลายโดยเร็วกรมจะปรับเปลี่ยนแผนใหม่ โดยปรับการจัด 8 กิจกรรมดังกล่าวให้เป็นรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ จัดการแสดงสินค้ารูปแบบ Virtual Trade Show จับคู่ธุรกิจออนไลน์หรือ Online Business Matching (OBM)

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และสถานการณ์การเมืองในเมียนมา ล่าสุดกรมได้ติดตามประเมินว่าขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยการค้าชายแดนไทย-เมียนมา 4 เดือนแรก 60,182 ล้านบาท ลดลง 0.002% เท่านั้น

โดยจากนี้จะมีการผลักดันให้เมียนมาเปิดจุดผ่านแดนช่วงโควิด-19 เพิ่มจาก 3 เป็น 11 แห่ง และเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 จ.ตาก พร้อมทั้งปรับเพิ่มมูลค่าการส่งสินค้าผ่านจุดผ่อนปรน ด่านพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี จาก 5 แสนบาท เป็น 2 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้ามากขึ้น

เช่นเดียวกัน “ตลาดมาเลเซีย” ซึ่งเป็นตลาดค้าชายแดนเบอร์ 1 ยังมีมูลค่าการค้า 107,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.87% โดยเฉพาะสินค้า “ถุงมือยาง” ช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เติบโต 53.72% จาก 4,618.58 ล้านบาท เป็น 7,099.60 ล้านบาท

ซึ่งหลังจากนี้ต้องผลักดันการขนส่งผ่านด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านบ้านประกอบ จ.สงขลา พร้อมทั้งผลักดันให้มาเลเซียเปิดเส้นทางขนส่ง ด่านเบงกาลันกูโบ และบูกิตบุหงา รวมถึงการเปิดจุดผ่านแดนขนส่งช่วงโควิด-19 เพิ่มจาก 5 เป็น 9 แห่งด้วย

ขณะที่ฝั่ง สปป.ลาวมีมูลค่าการค้า 71,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.49% ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่จากนี้จะมีการเปิดจุดผ่านแดนช่วงโควิด-19 เพิ่มจาก 11 เป็น 14 แห่ง ผลักดันการขยายเวลาเปิดด่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ขยายเวลาเพิ่มขึ้น 2 ชั่วโมง ถึง 24.00 น. ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ จ.เลย และ อ.เมือง จ.บึงกาฬ, บ้านยักษ์คุ จ.อำนาจเจริญ และบ้านใหม่ชายแดน จ.น่าน พร้อมทั้งประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออก ณ ท่าแพขนานยนต์ บ้านนาหินโหง่น อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี

สุดท้ายด้านกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้า 56,935 ล้านบาท ลดลง 4.50% จะผลักดันเปิดจุดผ่านแดนช่วงโควิด-19 จาก 5 เป็น 12 แห่ง เปิดจุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง จ.ตราด บ้านสวนส้ม และบ้านซับตารี จ.จันทบุรี ที่สำคัญต้องแก้ปัญหาการส่งออกสุกรซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ เพื่อให้สามารถกระตุ้นยอดการค้าได้มากขึ้น