ทุ่มเเสนล้าน เติมน้ำ EEC 5 โปรเจ็กต์ยักษ์ ชลประทาน

น้ำ
FILE PHOTO : ClaudiaWollesen : Pixabay

จากการขยายตัวในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลจึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการการทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ และเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2574) ในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นรวม 358 ล้าน ลบ.ม. หากมีการขยายการลงทุนอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว-การเกษตร จึงจำเป็นต้องเตรียม “น้ำ” ให้ประชาชนมีเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม

“การเพิ่มน้ำต้นทุนควบคู่กับแผนการจัดหาแหล่งน้ำ” จึงเป็นโจทย์ที่กรมชลประทานเตรียมนำเสนอ 5 โครงการใหญ่งบประมาณเฉียดแสนล้านบาท

ประเมิน 10 ปีน้ำไม่พอ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2564-74)

เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ที่อาจจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำในเขตอีอีซี ในปี 2574

คาดว่าจะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 358 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) เป็น 1,412 ล้าน ลบ.ม. จากปี 2564 มีความต้องการใช้น้ำปริมาณ 1,054 ล้าน ลบ.ม.

หากประเมินความต้องการใช้น้ำในปี 2574 เขต EEC จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 358 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นดังนี้ 1.จังหวัดชลบุรี มีความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ/หนองค้อ

และ 5 อ่างเก็บน้ำพัทยา จากเดิม 250 ล้าน ลบ.ม.เป็น 368 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 118 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคอุตสาหกรรม 34 ล้าน ลบ.ม. ประปา 84 ล้าน ลบ.ม.

2.จังหวัดระยอง มีความต้องการใช้น้ำเพิ่ม 240 ล้าน ลบ.ม. ใน 2 กลุ่ม คือ ความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่/หนองปลาไหล/ดอกกราย จากเดิม 497 ล้าน ลบ.ม.เป็น 590 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 93 ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 51 ล้าน ลบ.ม. ประปา 42 ล้าน ลบ.ม. ความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จากเดิม 307 ล้าน ลบ.ม.เป็น 454 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 147 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นภาคเกษตร 67 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อเรามาพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุน และความต้องการน้ำในอนาคตของโครงข่ายน้ำในเขต EEC จะพบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนมีทั้งสิ้น 1,260 ล้าน ลบ.ม. แต่ในอนาคตจะมีความต้องการใช้น้ำ 1,332 ล้าน ลบ.ม.

คือ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำบางพระ/หนองค้อ และ 5 อ่างเก็บน้ำพัทยา จำนวน 290 ล้าน ลบ.ม. แต่มีความต้องการใช้น้ำในอนาคตถึง 368 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำจำนวน 78 ล้าน ลบ.ม.

ส่วน จ.ระยอง แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล/คลองใหญ่/ดอกกราย มีปริมาณน้ำต้นทุน 620 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำในอนาคตถึง 590 ล้าน ลบ.ม. ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ และยังมีน้ำต้นทุนเหลืออยู่ 30 ล้าน ลบ.ม.

ดัน 5 โปรเจ็กต์น้ำป้อน EEC

จากสภาพปัญหาข้างต้น กรมชลประทานจึงได้พิจารณาแนวทางเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนรองรับการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและป้องกันการขาดแคลนน้ำ

ทั้งในการอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศโดยมีแนวทางการดำเนินการ 5 โครงการ ดังนี้

ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ดำเนินการ 2 โครงการ คือ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ปีละ 140 ล้าน ลบ.ม. มีแผนงานก่อสร้างในปี 2567-2670

และ 2.โครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 70 ล้าน ลบ.ม.

ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ดำเนินการ 2 โครงการ คือ 3.โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 50 ล้าน ลบ.ม.

ดำเนินงานปี 2566-2567 ภายใต้งบประมาณ 810 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการ และ 4. โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ

เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละ 80 ล้าน ลบ.ม. รองรับความต้องการน้ำในการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในอนาคต ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-69)

ภายใต้งบประมาณ 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบและทบทวนแบบเดิมแล้วเสร็จ และดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีผู้คัดค้าน

รวมทั้งขออนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เรียบร้อยแล้ว พร้อมดำเนินการได้

เพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

ที่สำคัญ กรมชลประทานมองว่า “นอกจากการพัฒนาโครงการในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคต กรมยังเห็นศักยภาพของเขื่อนภูมิพล ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5,626 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งหากมองจากสถิติที่ผ่านมาสามารถเก็บกักน้ำเต็มศักยภาพได้ที่ 9,662 ล้าน ลบ.ม. จึงทำให้มีช่องว่างเหลือเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล ก็จะยิ่งสามารถช่วยพื้นที่อีอีซีได้เช่นกัน”

นำมาสู่การพิจารณาแนวทางที่ 5.โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งดำเนินการภายใต้งบประมาณโครงการ 71,110 ล้านบาท โดยกรมชลประทานมีแผนการดำเนินโครงการ 9 ปี (2565-73)

ซึ่งความคืบหน้าโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานอีไอเอ โดยจะมีการพิจารณารายงานอีไอเอ ครั้งที่ 4 ในวันที่ 2 ก.ค. 2564 ขณะที่งานสำรวจ-ออกแบบ แล้วเสร็จในปี 2562 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566

นอกจากนี้จะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำยวม ซึ่งมีความจุ 68.40 ล้าน ลบ.ม. (มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่จุดบรรจบ แม่น้ำเมย 2,858.10 ล้าน ลบ.ม./ปี) และก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา พร้อมอุโมงค์ส่งน้ำ จำนวน 2 ช่อง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.10 ม.และ 8.30 ม.

โดยจะสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำยวมผ่านอุโมงค์ไปลงห้วยแม่งูด ที่อัตรา 182.52 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะมีปริมาณน้ำผันสูงสุดรายปี 1,795 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันได้ดำเนินการมีส่วนร่วมกับประชาชน

รวมทั้งชี้แจงประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการในเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ภายในปีนี้ 2564 จากนั้นในปี 2565 จะจัดหาที่ดิน และเริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคง จะเห็นได้ว่ากรมชลประทานมีโครงการสำคัญที่จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ “อ่างเก็บน้ำประแสร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผันน้ำในภาคตะวันออก”

โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อสูบผันน้ำจากคลองวังโตนดไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปีละ 140 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างระบบ สูบกลับคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ปีละ 100 ล้าน ลบ.ม.

และเมื่ออ่างเก็บน้ำประแสร์มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มากพอ จะสามารถผันไปเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ โดยโครงการผันน้ำประแสร์หนองค้อ-บางพระ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในจังหวัดชลบุรีได้อีกปีละ 80 ล้าน ลบ.ม.

ในอนาคตหากดำเนินการโครงข่ายได้ครบถ้วน กรมชลประทานจะศึกษาการผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำบางพระไปเติมคลองพระองค์ไชยานุชิตเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงต่อไปด้วย