เกมแตะถ่วง “CPTPP” ลุ้นตกขบวนร่วมเจรจาอีกรอบ

NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง

เป็นเวลากว่า 6 เดือนนับจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ

เป็นประธานการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

มหากาพย์เรื่องนี้ลากยาวมาเป็นปี ๆ นับจากถูกโยนลูกกันไปมาทำให้ไทยพลาดการสมัครเข้าร่วม CPTPP เมื่อปีก่อน

ซึ่งไทม์ไลน์การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจกลุ่ม CPTPP กำลังจะเวียนมาอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ หากไทยไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เท่ากับไทยจะหลุดขบวนไปอีก 1 ปี

ทั้งที่ผลการศึกษาฉบับ กนศ.เสร็จแล้ว แต่กลับ “ลึกลับ ซับซ้อน สับสน” โดยบางส่วนได้รับการยืนยันว่า ผลการศึกษาถูกบรรจุไว้ในวาระการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 แต่กลับไม่มี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อาจจะไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยก็ได้ หรืออาจจะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผลการศึกษาที่เสนอก็ได้

หรือหาก ครม.ผ่านความเห็นชอบ ก็ไม่ใช่ว่า CPTPP จะรับ “ไทย” เข้าเป็นสมาชิก ยังต้องเจรจากับสมาชิกอื่นอีก

ในส่วนของภาคเอกชนโดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก โดยมีการจัดจ้างทีม ดร.ปิติ ศรีแสงนาม, ดร.ทัชมัย ฤกษะสุต และ ดร.ชโยดม สรรพศรี ศึกษาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียในการเข้าร่วม CPTPP

เนื่องจากมองว่าความตกลงเป็นเครื่องมือสำคัญในการหนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ไทยทำการค้ากับ CPTPP มูลค่า 1.85 ล้านล้านบาท

โดยส่งออก 962,529 ล้านบาท และนำเข้า 889,220 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราเติบโตถึง 11% และ 16% (ตามกราฟิก) ตลาดนี้มีบทบาทสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยเริ่มเตรียมพร้อมศึกษาที่จะเข้าร่วมความตกลงเอฟทีเอ “อาเซียน-แคนาดา” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก CPTPP และไทยไม่เคยทำความตกลง FTA มาก่อน

จึงเป็นคำถามว่า หากไทยเข้าร่วมอาเซียน-แคนาดาแล้วยังจำเป็นต้องมี CPTPP หรือไม่

ขณะที่ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าภายหลังจากที่ กนศ.ขอขยายผลการศึกษาและสรุปผลการศึกษาแล้วเสร็จ กลับไม่มีการเผยแพร่ต่อประชาชนแต่อย่างไร

ขณะที่ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญได้เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ผลดี-ผลเสีย ข้อกังวลและความพร้อมของประเทศไทยที่มีต่อการเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP

ซึ่งข้อเสนอชุดกรรมาธิการวิสามัญให้ความพร้อมทั้ง 1.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.ความมั่นคงทางภาคเกษตรของไทย โดยกรรมาธิการระบุว่า ความตกลง CPTPP มีข้อบทที่กำหนดให้ภาคีความตกลงต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991)

ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ หรืออาจมีการแสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย 3.ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และองค์การอาหารและยา (อย.)

เนื่องจากในประเด็นนี้กรรมาธิการมีความเป็นห่วงว่าความตกลง CPTPP มีข้อกำหนดให้เปิดการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรเครื่องมือเก่า หรือ “remanufactured goods” เข้ามา และ 4.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตการค้าเสรี (free zone) และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า

“ตั้งข้อสังเกตว่าที่ไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาของ กนศ.นั้น มีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวมากของไทย เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืช การจัดซื้อจัดจ้าง ภาษีนำเข้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ให้เป็นประเด็นที่อยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนไหวไม่มาก หรือมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย เปลี่ยนจากแดงเป็นเหลือง จึงเห็นควรว่าต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อเตรียมความพร้อม

เพราะต้องยอมข้อบทต่าง ๆ ในการเข้าร่วมเจรจา CPTPP นั้นได้มีการเปิดเผยอยู่แล้วว่าผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องเจรจาในเรื่องใดบ้าง และประเทศไทยไม่ได้ร่วมเจรจาตั้งแต่แรก ดังนั้น การเจรจาจึงต้องเจรจาภายใต้ข้อกำหนดที่เขามีอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี “การเปิดเผยข้อมูล” เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการให้ประชาชนรับรู้ การจะเข้าร่วมเจรจาฉบับนี้ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน ไม่ว่างบประมาณ บุคลากร กฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ไม่ใช่การสร้างความหวังให้กับประเทศถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจหากเข้าร่วม CPTPP

เพราะไม่ใช่หนทางที่ดี แต่อาจจะส่งผลเสียหายหากประเทศไทยไม่มีความพร้อมใด ๆ เลย เนื่องจากมีประเด็นอ่อนไวที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมก่อน