ปั้นบางละมุงสมาร์ทซิตี้ ส.ป.ก.เร่งคิดค่าเวนคืน

pattaya

ชงบอร์ด “ประยุทธ์” เคาะที่ดิน ส.ป.ก. “บางละมุง” 2 หมื่นไร่ เป็นเมืองอัจฉริยะ smart city ให้บีโอไอเว้นภาษี 8 ปี ตามอำนาจ พ.ร.บ.อีอีซี พร้อมเร่งสรุปผลการศึกษาแนวทางเก็บค่าเวนคืน รีเซตผังเมืองภายใน ก.ค.นี้

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ศึกษาและเลือกพื้นที่ ส.ป.ก.บริเวณ อ.บางละมุง 86,657 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะ (smart city) พื้นที่ 62,500 ไร่ ซึ่งพื้นที่ ส.ป.ก.ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอีอีซี ซึ่งมีจุดแข็งทางด้านการท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรมสะอาด แหล่งผลิตสินค้าเกษตร

ที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐที่จัดสรรให้เกษตรกรเข้าประกอบอาชีพทำประโยชน์ด้านการเกษตร และอยู่ในแผนที่ที่จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การเปิดสนามบินอู่ตะเภา ทำให้ความเจริญเข้าสู่พื้นที่ในแถบ อ.บางละมุง โดยเฉพาะ ต.ห้วยใหญ่

เบื้องต้นที่ประชุมมีข้อสรุปว่าจะใช้พื้นที่ ต.ห้วยใหญ่ 15,000-20,000 ไร่ สร้างเมืองต้นแบบที่มีทั้งโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อรองรับแผนการใช้ที่ดินของเกษตรกร จะต้องได้รับเงินค่าเวนคืนเบื้องต้น สำนักงาน ส.ป.ก.ได้เข้ารับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว 680 ราย บนพื้นที่ 20,561 ไร่ เพื่อชี้แจงโครงการที่รัฐบาลในการพัฒนา ที่ดิน ส.ป.ก.ในพื้นที่แห่งนี้ร่วมกับคณะกรรมการอีอีซี

ล่าสุดนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ในอีอีซีที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 36

ว่ากรณีที่มีการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณะกรรมการนโยบายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอํานาจให้สํานักงานเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทันที

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างมอบหมายให้จังหวัดเข้าสำรวจพื้นที่ โดยหลักในการใช้พื้นที่ดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าเวนคืน ชดเชยค่าเสียหาย พร้อมกับปลูกที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ จึงต้องสำรวจว่าเกษตรกรแต่ละครอบครัวประกอบอาชีพอะไร ในพื้นที่เท่าไร เพื่อนำมาใช้คำนวณค่าชดเชยก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) พิจารณาต่อไป

ด้านแหล่งข่าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้เริ่มศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เบื้องต้นจะนำผลการศึกษาดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุม กพอ. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อรับทราบปลายเดือน ก.ค. 2564 นี้ โดยแนวทางในการพัฒนาพื้นที่นั้นจะอยู่ที่แต่ละหน่วยงานลงความเห็นว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง smart city หรือประกอบกิจกรรมอื่น ๆ

“เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ส.ป.ก.ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมว่า กิจกรรมประเภทใดบ้างสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ได้ก็จะเปิดกว้างขึ้น ส่วนเรื่องของผังเมืองปัจจุบันมีผังเมืองรวมอีอีซีอยู่แล้ว เมื่อผลการศึกษาเสร็จก็จะไปเทียบผังเมืองว่าตรงไหนเป็นสีอะไร เช่น ถ้าเคาะว่าจะทำ smart city ที่บางละมุง ถ้าตรงนั้นเป็นสีน้ำตาล คือถูกประกาศเป็นเขตกิจการพิเศษ สีม่วงเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมก็ไม่ต้องปรับอะไร แต่ถ้าเป็นสีอื่นก็ต้องมาปรับระดับสีกันใหม่ แต่ไม่ต้องไปแก้ พ.ร.บ.ผังเมืองอะไรอีก”

ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 36 ในการใช้ที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้อํานาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นอํานาจของคณะกรรมการนโยบาย ให้หน้าที่และอํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหน้าที่และอํานาจของเลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายที่ดินที่สํานักงานมีอํานาจใช้ตามวรรคหนึ่ง

“สํานักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย จะมอบให้บุคคลอื่นใช้โดยมีค่าตอบแทนได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกําหนดในกรณีที่ที่ดินที่สํานักงานมีอํานาจเข้าใช้ตามวรรคหนึ่งมีบุคคลอื่นมีสิทธิใช้ประโยชน์อยู่ก่อนให้สํานักงานจัดหาที่ดินอื่นให้ผู้นั้นใช้แทนหรือจะจ่ายค่าชดเชยหรือให้ประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด”

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการ smart city สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยจะต้องลงทุนระบบอัจฉริยะ 2 ด้าน (1 ใน 2 จะต้องเป็นระบบอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม smart environment) จากเดิมที่กำหนดไว้ 7 ด้าน และหากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติเพิ่มอีก 5 ปี

ในกรณีที่ลงทุนกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี (จำกัดวงเงิน) พัฒนาระบบนิคมอุตสาหกรรม ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เช่นเดียวกันหากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของอัตราปกติเพิ่มอีก 5 ปี

รายงานข่าวระบุว่า โครงการเริ่มมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยบอร์ดอีอีซีต้องการที่ดิน ส.ป.ก.ดำเนินการจัดตั้งบริษัทมหาชน เพื่อเป็นบริษัททุนร่วมกันกับฝ่ายรัฐบาล เจ้าของที่ดินมีโอกาสเป็นเจ้าของหุ้นอยู่ในบริษัทที่ตั้งขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสามารถกำหนดเงื่อนไขทุกด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อมและการใช้ที่ดินได้