กรมปศุสัตว์ เผยพนง.โรงงานเชือดสัตว์ส่งออกฉีดวัคซีนครบสองเข็มแค่ 4%

ฉีดวัคซีน-พนักงานรง.ส่งออก

กรมปศุสัตว์ เร่งให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ผู้ประกอบการโรงงานเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกทุกแห่งฉีดวัคซีน เผยโรงงานเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งร้อยละ 22 เข็มที่สอง ร้อยละ 4 คาดว่าผู้ประกอบการโรงเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกจะสามารถทำวัคซีนเข็มที่ 1 ให้พนักงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ย้ำไร้เชื้อไวรัสโควิด 19 ปนเปื้อน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ การได้รับวัคซีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดการแพร่กระจายการติดเชื้อโรคนี้ได้ กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ทั้งเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก จึงมีนโยบายให้โรงงานเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกทุกแห่งรับวัคซีนให้พนักงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าเนื้อสัตว์มีความปลอดภัยไร้การปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 แน่นอนซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“โดยภาพรวมพนักงานในโรงงานเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งไปแล้วร้อยละ 22 และได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ร้อยละ 4 คาดว่าผู้ประกอบการโรงเชือดสัตว์เพื่อการส่งออกจะสามารถทำวัคซีนเข็มที่ 1 ให้พนักงานได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ”

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังมี นโยบายให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลโรงงานเชือดสัตว์เพื่อการส่งออก ต้องทำวัคซีนโดยเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งไปแล้วร้อยละ 80 และมีเจ้าหน้าที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ร้อยละห้าสิบ คาดว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะได้รับวัคซีนเข็มที่หนึ่งครบภายในเดือนสิงหาคม

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่าการได้รับวัคซีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถช่วยเป็นเกราะป้องกันลดการแพร่กระจายการติดเชื้อโรคนี้ได้ แต่ขอย้ำว่า กรมปศุสัตว์มีมาตรการกำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดตามหลักสุขอนามัยที่ดีมาโดยตลอด รวมถึงกำชับให้ผู้ประกอบการมีความเข้มงวดในการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน

ได้แก่ 1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดตามแผน มีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง ปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคล การรักษาระยะห่าง

การปฏิบัติตามหลัก DMHTT (D : Social Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask สวมหน้ากากผ้า/ทำการหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ H : Hand ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ T : Testing การตรวจเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคได้เร็ว และ T : Thai cha na ใช้แอฟไทยชนะ) อย่างเคร่งครัด

2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต ร่วมกับการควบคุมกระบวนการผลิต โดยเฉพาะจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Critical Control Point: CCP)

3) มาตรการที่สามเกี่ยวกับสินค้า ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การเตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป การเก็บรักษา และการขนส่งสินค้าเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ที่สำคัญมีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ

ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่าเนื้อสัตว์มีความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ สำหรับผู้บริโภคภายในประเทศ กรมปศุสัตว์ขอแนะนำผู้บริโภคเลือกเนื้อสัตว์จากสถานที่จำหน่ายที่สะอาด โดยต้องมีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”