เกษตรกรไทยหนี้ท่วม! เฉลี่ยครัวเรือนละ 2.5 แสนบาท เพิ่ม 16.5%

สศก.ประเมินปี64 เกษตรกรหนี้พุ่ง 16.5% เผยส่วนใหญ่จำเป็นต้องกู้เงินซื้อปัจจัยการผลิต ใช้จ่ายนอกภาคเกษตร ขณะที่รายได้เพิ่ม 4.5% ชี้จับตาผลผลิตเกษตรร่วงข้าวลดลง 3% ส่วนนม กุ้ง ต้องลุ้น

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ประเมินสถานการณ์สินทรัพย์ของเกษตรกร หลังจากสถานการณ์การระบาดการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามหนี้ครัวเรือนประเทศ และตัวแปรอื่นๆ โดยเฉพาะจากนโยบายของภาครัฐ อาทิ พักหนี้ และการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ขณะที่หนี้สินเกษตรกรปี 2564 มีหนี้สินเฉลี่ยที่ 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.54% จากปี 2563 ที่มีหนี้สิน 225,090 บาท/ครัวเรือน 

ทั้งนี้ หนี้สินเงินกู้ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ของการกู้ ดังนี้ คือ ค่าปัจจัยการผลิต/วัสดุอุปกรณ์การเกษตรสัดส่วน 37.55%, กลุ่มค่าแรงงาน ค่าซ่อม/ซื้อ เครื่องจักรเกษตร ค่าเช่าสัดส่วน 17.05% ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสัดส่วน 15.59%, หนี้สินเดิมสัดส่วน 5.35% กู้เพื่อการศึกษาสัดส่วน 3.73% และกู้เพื่อใช้นอกการเกษตร เช่น ซื้อสินค้า/บริการต่างๆ เป็นต้นสัดส่วน 20.72%

ส่วนรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรปี 2564 มีรายได้ 408,099 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.54% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวมเฉลี่ย 390,376 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น รายได้เงินสดในภาคเกษตร 190,065 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.07% จากปีก่อนมีรายได้เงินสดเกษตร 184,409 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกการเกษตร  ซึ่งรวมเงินช่วยเหลือของภาครัฐแล้วมีรายได้ 218,034 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น5.86% จากปีก่อนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร205,967 บาท/ครัวเรือน

สำหรับรายได้จากด้านพืชมากที่สุด 140,825 บาท/ครัวเรือน รองลงมาคือ รายได้จากด้านปศุสัตว์ 44,990 บาท/ครัวเรือน และรายได้เงินสดเกษตรอื่น ๆอาทิการแปรรูปผลผลิตเกษตรที่ผลิตได้(ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป)ผลผลิตพลอยได้ 4,790 บาท/ครัวเรือน

อย่างไรก็ดี สศก. ประเมินรายได้เงินสดทางการเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีผลผลิตด้านการเกษตรหลายตัว ราคาอาจปรับตัวลดลง หลายตัว อาทิ ไก่เนื้อ น้ำนมดิบ กลุ่มสัตว์น้ำแนวโน้มราคาลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เช่น กุ้งขาวแวนาไม ข้าว มีแนวโน้มราคาเฉลี่ยลดลง จากปีที่ผ่านมา ประมาณ  3% กลุ่มพืชไร่ สินค้าที่ราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาต้องเฝ้าระวัง เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน หอม กระเทียม มันฝรั่ง และ กลุ่มพืชผัก แนวโน้มลดลงเล็กน้อย

ส่วน สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ไม้ยืนต้น ยังเป็น สนค้าที่ราคาสูงขึ้นจากปีก่อน เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลำไย และสินค้าที่ราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาต้องเฝ้าระวัง เช่น เงาะ มังคุด กลุ่มพืชอื่น  ได้แก่ ยาสูบ แนวโน้มเพิ่มขึ้น บางพื้นที่ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนหลังนา และ กลุ่มปศุสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เช่น สุกร โคเนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น