ฝ่าโควิด เปิด 44 ด่าน ดันยอดค้าชายแดน-ค้าผ่านแดน ก.ค. ทะลุ 9 หมื่นล้าน

การค้าชายแดน
แฟ้มภาพ

จุรินทร์ เผยค้าชายแดน-ผ่านแดนรุ่ง ต่อเนื่อง “ดันส่งออก” เดือน ก.ค. ทะลุ 90,101 ล้านบาท ขยายตัว 41.70%

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 90,101 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 41.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า 57,447 ล้านบาท ขยายตัว 14.43% คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 147,549 ล้านบาท ขยายตัว 29.67% เป็นไทยเกินดุลการค้า 32,654 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 5.91 แสนล้านบาท ขยายตัว 37.88%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“ปัจจัยที่ส่งผลให้การค้าชายแดน ผ่านแดนขยายตัวเป็นบวกถึง 41.70% คือ 1.การทำงานร่วมกันอย่างหนักและต่อเนื่องของ กรอ.พาณิชย์ การเร่งเปิดด่าน 44 ด่านจากทั้งหมด 97 ด่าน และพร้อมขยายการเปิดด่านเพิ่มโดยเฉพาะด่าน ชายแดนไทย-สปป.ลาว 2.การจับมือกับเอกชนแก้ปัญหาทันทีเชิงรุก เช่น ด่านโหย่วอี้กวน การเพิ่มช่องทางที่ด่านตงซิง เพื่อให้ระบบการขนส่งผลไม้ของไทยคล่องตัวขึ้น และแก้ปัญหาส่งออกผลไม้ไทย ทุเรียน ลำไย จากปัญหาโควิด 3.การทำโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ช่วยผู้ส่งออก โดยวันที่ 26 สิงหาคม EXIM Bank อนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้ SMEs ส่งออกแล้ว 151 รายเป็นเงิน 618 ล้านบาท 4.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 5.ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง” นายจุรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่กระทบตัวเลขการค้าชายแดน เช่น สถานการณ์โควิดซึ่งมาเลเซียเข้มงวดการนำเข้าสินค้าชายแดนผ่านไทย เพราะต้องควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางและส่งผลต่อราคาน้ำยางในประเทศไทยระบบการขนส่งโลจิสติกส์ทั้งการขนส่งข้ามจังหวัดที่มีอุปสรรคและระบบการขนส่งข้ามประเทศที่ต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอดทั้งจากไทยไปลาว ลาวไปเวียดนาม เป็นต้น หรือรวมทั้งข้ามฝั่งไปเมียนมาเพราะสถานการณ์การเมืองในเมียนมาเป็นปัจจัยตัวที่ทำให้การค้าชายแดนไม่คล่องตัวอย่างในภาวะปกติ

สำหรับด่านที่จะเร่งรัดเปิดต่อไป ขณะนี้ มีความคืบหน้าใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย นครพนมและมุกดาหาร วันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุม 3 ฝ่ายมีข้อสรุปว่าจะทำแผนในการเปิดด่านกับฝั่งลาว เกือบเสร็จแล้วใน 5 จังหวัด 2.ด่านปากแซง นาตาล ที่อุบลราชธานี มีความคืบหน้าในการเจรจาอยู่ในขั้นตอนรายละเอียด คาดว่าน่าจะเป็นด่านแรก ๆ ที่จะสามารถเปิดด่านได้ 3.ที่นราธิวาส ด่านตากใบ กับบูเก๊ะตาจะเร่งรัดต่อไป

นอกจากนี้ ตนได้มอบอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศใช้โมเดลเดียวกับด่านชายแดนลาวประชุม 3 ฝ่ายคาดว่าสัปดาห์หน้าจะประชุมได้ เมื่อได้แผนเปิดงานแล้วจะเจรจากับมาเลเซียต่อไป ซึ่งต้องคุยทั้ง 3 ฝ่ายเศรษฐกิจโควิดและความมั่นคง ต้องคุยด้วยกันถึงจะเปิดด่านได้ เป้าหมายปี 2564 ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านได้ตั้งเป้าว่าจะ ขยายตัว 3-6%

ด้าน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญไปยังประเทศมาเลเซีย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยางพารา ประเทศกัมพูชา สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับ สปป.ลาว สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซลน้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และรถยนต์นั่ง ประเทศเมียนมา สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

จากข้อมูลกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าการค้าชายแดนไทยกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และ กัมพูชา) เดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 40,416 ล้านบาท ขยายตัว 10.55% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า 27,915 ล้านบาท ขยายตัว 4.95% คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 68,331 ล้านบาท ขยายตัว 8.19% โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ มาเลเซีย 12,372 ล้านบาท (ขยายตัว 17.95%) รองลงมา ได้แก่ กัมพูชา 11,202 ล้านบาท (ขยายตัว 5.12%) สปป.ลาว 8,979 ล้านบาท (ขยายตัว 8.08%) และ เมียนมา 7,863 ล้านบาท (ขยายตัว 10.65 %)

การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ) เดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 49,685 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 83.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า 29,533 ล้านบาท ขยายตัว 25.11% คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 79,218 ล้านบาท ขยายตัว 56.46% โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ จีน 24,532 ล้านบาท (ขยายตัว 126.64%) รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ 5,810 ล้านบาท (ขยายตัว 59.85 %) และ เวียดนาม 3,627 ล้านบาท (ขยายตัว 1.63%) ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศอื่น ๆ มีมูลค่า 15,716 ล้านบาท (ขยายตัว 74.67%)

ทั้งนี้ การส่งออกผ่านแดนไปจีนในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ขยายตัวในอัตราสูง มีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ (1) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 15,514 ล้านบาท (เช่น ทุเรียน 10,685 ล้านบาท มังคุด 4,729 ล้านบาท และ ลำไย 373 ล้านบาท) ขยายตัวสูงถึง 348.86% และมีสัดส่วนร้อยละ 63.24 ของการส่งออกรวม (2) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3,185 ล้านบาท ขยายตัว 5.51% (3) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,676 ล้านบาท ขยายตัว 9.73% (4) ยางพารา 1,607 ล้านบาท ขยายตัว 81.12% และ (5) ไม้แปรรูป 1,191 ล้านบาท ขยายตัว 45.79%

2. การค้าชายแดนและผ่านแดน ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า การส่งออก 591,051 ล้านบาท ขยายตัว 37.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการนำเข้า 379,671 ล้านบาท ขยายตัว 21.50% คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 970,721 ล้านบาท ขยายตัว 30.97% ไทยเกินดุลการค้า 211,380 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนมีการส่งออกรวม 313,882 ล้านบาท ขยายตัว 22.71% และการค้าผ่านแดนมีมูลค่าการส่งออกรวม 277,168 ล้านบาท ขยายตัว 60.32%