ต่างชาติยังสนใจไทย ส.ค. 64 เงินลงทุนพุ่ง 450% จากปีก่อน

การลงทุน
ภาพ : Pixabay

กรมพัฒน์เผย ส.ค. 64 มีการอนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 24 ราย เพิ่มขึ้น 85% มีเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 908 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450% จ้างงานคนไทย 636 คน

วันที่ 16 กันยายน 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 24 ราย เพิ่มขึ้น 85% เมื่อเทียบจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากเดือนกรกฎาคม ติดปัญหาโควิด-19 จึงไม่ได้มีการพิจารณา ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 908 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450% เมื่อเทียบจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 636 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศ ผู้เข้ามาลงทุน

ทศพล ทังสุบุตร
ทศพล ทังสุบุตร

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electronic Vehicle) องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงเทคนิคการเดินรถไฟความเร็วสูง องค์ความรู้เกี่ยวกับการขนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม และองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุน จากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 144 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการนายหน้าเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทซิลิโคน (Silicones) โลหะผสมพิเศษ (Specialty foundry alloys) วัสดุคาร์บอนผสมเพื่องานอุตสาหกรรม (Carbon materials) ซิลิคอนและไมโครซิลิกา (Silicon materials and Microsilica) เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การค้าปลีกเครื่องทดสอบกำลังไฟและทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าสำหรับแบตเตอรี่ของยานพาหนะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าส่งโช้กอัพรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนของโช้กอัพรถจักรยานยนต์

2. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และอิตาลี มีเงินลงทุนจำนวน 244 ล้านบาท ได้แก่ บริการบริหารจัดการและให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Operation-Maintenance) และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ (Commercial Operation) ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา บริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Wellhead Platforms) รวมถึงการเชื่อมต่อท่อลำเลียงใต้ทะเล (Associated Pipes and Tie-In) และเชื่อมต่อการทำงานกับแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

3. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 12 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 458 ล้านบาท อาทิ บริการสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งสินค้าประเภทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) ที่ใช้ เพื่อการเกษตร และบริการที่เกี่ยวเนื่อง บริการชำระเงินภายใต้การกำกับประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับชำระและโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

4. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวน 62 ล้านบาท อาทิ บริการสินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน (Welfare Loans) ของบริษัทในเครือในประเทศไทย บริการบริหารจัดการเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัล และทำการตลาดและส่งเสริมการขายเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัล บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับเดือนสิงหาคม 2564 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป รองลงมาเป็นธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน และธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่งสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักที่ทำอยู่แล้ว จำนวน 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 67 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดของเดือนนี้

ทั้งนี้ เดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาต 132 ราย เงินลงทุน 9,383 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง และระบบควบคุมการจัดการการจราจร ภายใต้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นต้น