กนอ.ขอเครื่องสูบน้ำ 31 ชุด จากกรมชลประทานให้นิคมเสี่ยงน้ำท่วม

น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม

ผู้ว่าการการนิคมฯร่วมถกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ หามาตรการป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชงขอเครื่องสูบน้ำ 31 ชุด ติดตั้งให้นิคมความเสี่ยงสูง ด้าน “มหาดไทย” กำชับให้ทุกฝ่ายติดตาม ป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ได้

วันที่ 17 กันยายน 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตาม และเตรียมการป้องกัน แก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า

วีริศ อัมระปาล

กนอ.ได้รับมอบหมายให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงมรสุมที่ต้องประเมินศักยภาพในการรับมือและแก้ปัญหา หากมีพื้นที่ใดที่มีปัญหา ต้องการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้รีบประสานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานจังหวัดเป็นหลัก เพื่อติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม รับผิดชอบการบริหารสูบน้ำออกจากพื้นที่ตนเอง ส่วนรอบนอกให้กรมชลประทานกับ สทนช. ดำเนินการ

ทั้งนี้ ในการประชุมยังประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้หน่วยงานภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะหากมีมรสุมต้องเตรียมการรับมืออย่างไรให้รีบสื่อสารให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ไม่ตื่นตระหนก และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งล่าสุด กนอ.ได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เพื่อขอการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 31 ชุด ความสามารถในการสูบน้ำรวม 71,000 ลบ.ม./ชั่วโมง เพื่อติดตั้งในนิคมที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม

“นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตสินค้าภายในประเทศและสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง แต่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอย่างจำกัด เมื่อสภาพเหตุการณ์มีความรุนแรงสูงเกินกว่าที่ได้วางแผนไว้ ก็จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น ฝนที่ตกในนิคมอุตสาหกรรมบางปู เมื่อวันที่ 28-29 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมขัง 3 วัน ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1,000 ล้านบาท กนอ.จึงมีการปรับแผนบริหารความเสี่ยงและดำเนินการป้องกันเร่งด่วน เช่น การตั้งกำแพงกั้นน้ำชั่วคราวในบางพื้นที่ การทำความสะอาดคูคลอง และคอยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่”