สภาองค์กรของผู้บริโภค ค้านเข้าร่วม CPTPP

การส่งออก
FILE PHOTO: REUTERS/Athit Perawongmetha/

สภาองค์กรของผู้บริโภคค้าน “ประยุทธ์” เข้าร่วม ‘CPTPP’ ชี้ผู้บริโภคเสียมากกว่าได้ หวั่นผูกขาดตลาดยาแพง เมล็ดพันธุ์แพงดันให้อาหารแพง แถมรับนำใช้เครื่องมือแพทย์มือสอง (เก่า) จากต่างประเทศ

จากการที่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เคยเสนอให้รัฐบาลชะลอส่งหนังสือเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องจากเห็นต่างเรื่องผลได้ทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยทั้งประเทศ หากเข้าร่วม CPTPP ด้วยการไม่ได้มองถึงประโยชน์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

1.ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ และนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบต่อสาธารณะทันทีเมื่อแล้วเสร็จ หากข้อมูลพบผลกระทบด้านลบมากกว่าผลดีที่จะเกิดขึ้น ขอให้รัฐบาลมีมติหยุดการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ต่อไป

2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยากับยาชื่อสามัญ และเร่งปรับปรุงฉลากผลิตภัณฑ์ GMO ให้มีความชัดเจนและต้องแสดงฉลากในทุกผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีการใช้วัตถุดิบที่มาจากการตัดแต่งพันธุกรรมไม่ว่าจะปริมาณเท่าไรก็ตาม อีกทั้งมีสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัดเจน รวมถึงการจัดการเครื่องมือแพทย์มือสอง การจดแจ้งเครื่องสำอางที่เชื่อถือได้ และอาหารนำเข้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

3.ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ที่สร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร สิทธิของประชาชน และการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ

4.ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้ครอบคลุมทรัพยากรชีวภาพทุกประเทศ โดยใช้หลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารแจ้งกลับมายัง สอบ. ว่านายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วและมีบัญชารับทราบข้อห่วงกังวลดังกล่าว จึงให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาและประสานกับ สอบ. แต่ขณะนี้ บัญชาของนายกรัฐมนตรียังไม่มีหน่วยราชการใดนำไปปฏิบัติเลยนั้น

ล่าสุด (15 ตุลาคม 2564) สอบ. ได้ทราบข้อมูลว่า เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าร่วม CPTPP โดยให้เหตุผลว่าประเทศไทยจะตกขบวนไม่ได้และต้องเจรจาโดยมีข้อสงวน รวมถึงเสนอให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ด้วย

สารี อ๋องสมหวัง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สอบ. ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนคำสั่งการดังกล่าวโดยด่วน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่จะมีมากหากเข้าร่วม CPTPP ไม่ว่าจะเป็นการที่ยามีราคาแพงขึ้น การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้อาหารแพง การต้องยอมใช้เครื่องมือแพทย์มือสอง (เก่า) จากต่างประเทศ การที่เครื่องสำอางไม่ต้องจดแจ้งทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิต การต้องยอมรับอาหารที่มีส่วนผสม GMOs หรือแม้แต่เรื่องการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนซึ่งอาจส่งผลให้มีการหลอกลวงผู้บริโภค ฉ้อโกง สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังอาจทำลายความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างน้อย 6 เป้าหมายหลักได้แก่ SDG1 การขจัดความยากจน SDG2 ยุติความหิวโหย SDG3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนในทุกวัย SDG10 ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ SDG12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

ด้าน ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. กล่าวว่า หากนำประเทศเข้าร่วม CPTPP ประชาชนและประเทศต้องจ่ายค่ายาจำเป็นแพงมากแน่นอน อย่างน้อยเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาทต่อปี เพราะต้องยอมให้ต่างชาติผูกขาดการขายยาจำเป็นและข้อมูลเกี่ยวกับยา


ทั้งนี้ จากข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อ กนศ. เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่าจะเกิดผลกระทบไม่น้อยกว่า 420,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งมูลค่าของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศลดลงสูงสุดถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณของรัฐในการจัดบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ