กรรณิการ์ กิจติเวชกุล CPTPP : จะช้าหรือไม่เข้าก็ไม่เสียประโยชน์

รายได้ส่งออก 6 เดือน
Image by Markus Distelrath from Pixabay

การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจาก “จีน” และ “ไต้หวัน” ประกาศต่อคิวเข้าร่วม ต่อจากสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่สมัครเข้าร่วมมือไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสที่จะขยับจาก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ไปเป็น 14 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นเป็น 1 ใน 4 ของโลก

หลายฝ่ายเริ่มมองว่าไทยควรเร่งตัดสินใจเข้าร่วม เพื่อไม่ให้ตกขบวน แต่อีกมุมหนึ่งคือผลกระทบต่อภาคเกษตร และภาคประชาชน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กรรณิการ์ กิจติเวชกุล” รองประธาน FTA Watch แกนนำภาคประชาสังคมถึงมุมมองต่อ CPTPP หลังเตรียมรับ 3 สมาชิกใหม่

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

จีนเข้า CPTPP มีจุดเปลี่ยนอย่างไร

ประเด็นแบบนี้เราต้องดูอย่างหนึ่งก่อนเลยว่า ตอนที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เข้า ตอนนั้นเป็นเรื่องการค้าแน่ ๆ เพราะอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ฉะนั้น ทุกความตกลงที่เคยมี (ในสมัยอยู่ในอียู) ต้องไปทำใหม่หมด อังกฤษจึงต้องการเข้าร่วมความตกลงที่มีการเจรจาที่ละเยอะ ๆ ประเทศ จากก่อนหน้านี้เค้าจะเริ่มเจรจาทวิภาคี อย่างของไทยเองก็มีการเริ่มพูดคุย

ส่วนกรณีของจีน ไม่สามารถที่จะมองจีน โดยไม่มองการเมืองระหว่างประเทศได้เลย เพราะว่าถ้าไปดูวันที่จีนยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมให้กับนิวซีแลนด์ วันต่อมาสื่อนิวซีแลนด์รายงานว่ามันเป็นเรื่องแปลกมากที่จีนยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง แต่ทางนิวซีแลนด์ไม่ยอมเปิดเผยเรื่องนี้ ทั้งที่ตอนร่วมกับอังกฤษมีการแถลงการณ์ร่วม แต่กรณีนี้ปิดไว้ 1 วัน จนกระทั่งจีนต้องออกมาแถลงข่าวเอง ซึ่งมันแปลก ดูอิหลักอิเหลื่อมาก

และพอจีนแถลง ทางนิวซีแลนด์ก็ยังไม่ได้แถลงเรื่องนี้ซะทีเดียว แต่ข่าวที่ออกมาเป็นการซักถามของนักข่าวที่ไปตามแถลงเรื่องโควิด แล้วก็ตอบเพียงว่าการที่ประเทศใหญ่ๆ สนใจเข้าร่วมเรื่อง CPTPP ก็เป็นเรื่องที่ดี แสดงว่าท่าทีของใน CPTPP ยังแปลก ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ออสเตรเลียหนึ่งประเทศสมาชิกที่เพิ่งเปิดตัวสนธิญญา Aukus ไป ซึ่งญี่ปุ่นเองก็ไปเลี่ยงพูดเรื่องว่าจีนยังไม่พร้อมมาตรฐาน ทั้งที่เมื่อจีนสมัครเข้าร่วมนั่นแสดงว่าจีนพร้อมที่จะทำตามมาตรฐานแล้ว

“ตอนนี้จึงมีเพียง 2 ประเทศใน CPTPP ที่สนับสนุนจีน นั่นคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่มาเลเซียเป็นประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ส่วนสิงคโปร์อยู่ในนี้เรียบร้อยแล้ว ถ้าจีนเข้าจะเป็นการขวางไม่ให้สหรัฐเข้า มันเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ”

และยิ่งเราเห็นไต้หวันยื่นเมื่อวันถัดมาจากจีน ยิ่งสะท้อนว่านี่เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศแน่ ๆ เพราะว่าจีนรู้ว่าไต้หวันจะยื่นแสดงเจตจำนงที่จะเข้า ฉะนั้น จีนต้องยื่นตัดหน้าก่อน เพื่อให้ประเทศ CPTPP คิดก่อนว่าจะรับใครเข้า เพราะนั่นคือการขวางนโยบายจีนเดียว

ฉะนั้นงานนี้สร้างความอิหลักอิเหลื่ออีกพักใหญ่ ๆ แน่

มุมของไทยจะเป็นอย่างไร

จีนกับไทยมีเอฟทีเอระหว่างกันอยู่แล้ว การที่จีนจะเข้า CPTPP มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรต่อไทยมากขึ้น ถ้าไทยคิดจะเข้า CPTPP

แต่ประเด็นที่หลายคนบอกว่าจีนพร้อมที่จะปรับมาตรฐานของเค้ามาให้เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ มาตรฐานพวกนั้นเป็นมาตรฐานที่จีนต้องยอมทั้งโลกอยู่แล้ว ซึ่งไทยก็จะได้ด้วยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ทรัพย์สินทางปัญญา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้หมด เพราะมันไม่ได้เป็นประเด็นอะไร

แต่สิ่งที่ไทยต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีว่า “สถานะของไทย” ที่จะเข้าก่อนเข้าหลักก็ดี ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าการเข้าของเราก็เพื่อจะได้เป็น “ห่วงโซ่อุปทาน” ไปสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า แต่ว่าวัตถุดิบทั้งหมดมันอยู่ที่จีนเป็นสำคัญ

“แต่ว่าถ้าไต้หวันเข้ามันยังจะน่าสนใจกว่าเพราะเราไม่เคยมีเอฟทีเอกับไต้หวันมาก่อน ซึ่งทาง CPTPP ก็คงคิดอย่างนั้น คงอยากให้ไต้หวันสมัครใจ หรือว่าแม้แต่อเมริกา ซึ่งไทยกับอเมริกาไม่ได้มีเอฟทีเอมาตั้งนานแล้ว พออเมริกาออกจาก CPTPP ผลประโยชน์อะไรที่เคยจะได้มันร่วงลงมา นี่เป็นผลการศึกษาของจร. (กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) มันต้องคิดหน้าคิดหลังดีๆ”

“ซึ่งพี่ไม่เห็นด้วยที่หลายๆคนบอกว่าเราในฐานะมหามิตรต้องได้รับการพิจารณาก่อน ถ้าไปยื่นหนังสือตอนนี้ ซึ่งเค้ากำลังอิหลักอิเหลื่อกันอยู่ อย่างยูเคเข้าเค้ามีการตั้งกรรมการ Working Group ไปแล้ว แต่พอจีนกับไต้หวันเข้า ไม่ใช่ว่าอยู่คุณมายื่นเป็นประเทศที่สามแล้วจะบอกว่าของคุณง่ายกว่าเอาไปพิจารณาก่อนแล้วกัน โอกาสจะอิลักอิเหลื่อสักพักแบบนี้เยอะ”

จังหวะไทยเตรียมพร้อม

ก่อนหน้านี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาล เพราะมีประเด็นที่เห็นต่างและคิดว่าต้องชะลอไว้ก่อน แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีการเรียกไปหารือ นับว่ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564

อีกทั้งที่ผ่านมาผลศึกษาผลสรุปของคณะกรรมาธิการบอกว่าเราควรเตรียมพร้อมที่จะเข้า ถ้าคุณอยากเข้าแล้วไม่เตรียมการผลกระทบมันสูง ฉะนั้น ทำไมคุณไม่ใช้ช่วยเวลาแบบนี้ในการเตรียมการ ที่ผ่านมานับตั้งแต่รายงานคณะกรรมาธิการถูกเสนอเข้า ครม. ให้ไปจัดการดำเนินการต่าง ๆ แต่เรียกได้ว่าไม่ได้ทำอะไรเลยที่เป็นรูปธรรม มีแต่บีบให้หน่วยงานต่างไปลดประเด็นที่เป็นสีแดงประเด็นที่อ่อนไหว ซึ่งตอนแรกมี 16 ประเด็น และช่วงเมษายนที่ผ่านมาถูกตัดให้เหลือ 11 ประเทศ และตอนนี้ถูกทำให้หายไปหมดเลยในการประชุม กนศ. ครั้งหลังสุด

“ตอนแรก กนศ.เอารายงานของคณะกรรมาธิการมา มาแยกเป็นประเด็น ๆ ได้ 81 หัวข้อ แล้วเค้าก็ให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 8 ชุด แล้วก็ให้แต่ละคณะไปดูว่าแต่ละเรื่อง จัดลำดับ แบ่งเป็น หมวดที่มีเนื้อหาใน CPTPP และไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว อันนี้ทำได้ไม่มีปัญหา หมวดที่ไทยยังไม่เคยมีเนื้อหามาก่อน ถ้ามีใน CPTPP แล้วมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน มีการสนับสนุนเรื่องบประมาณและกำลังคนก็พอจะไปได้ แต่ว่าสีแดงเป็นประเด็นที่ CPTPP บังคับ และไทยไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งถ้าทำตาม ไทยจะมีปัญหาแน่ ๆ นี้มี 16 ประเด็น พอเมษายนถูกตัดไปเหลือ 11 ตอนนี้ถูกหายไปหมดเลยในการทำประชุม กนศ. ครั้งหลังสุด”

ถูกทำให้หาย หมายถึงทิ้งหรือยุบรวมประเด็น

ไปตัดปรับให้เป็นสีเหลือง

ประเด็นสีแดงมีอะไรบ้าง

11 ข้อที่ตอนนั้นยังอยู่ แล้วภายหลังถูกปรับสีเหลืองหมด คือ อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) , กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement : ISDS), ฉลากและควบคุมแอลกอฮอล์, ภาษีดิจิทัล (Digital tax), ยกเลิกมาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าเกษตร (Special Agricultural Safeguard), รัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับ องค์การเภสัชกรรม และโครงสร้างภาษีอากรวัตถุดิบกับสินค้าสำเร็จรูป

การทำงานของ 8 อนุมีภาคประชาสังคมหรือไม่

ใน 8 อนุกรรมการไม่มีภาคประชาสังคมในนั้น แต่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นบ้างในบางคณะอนุฯ อย่างเรื่องหนึ่ง ประเด็นการที่เราต้องรับสินค้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้ว เค้าต้องการงบประมาณเพิ่ม ต้องการคนตรวจเพิ่ม เพราะไทยไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งไม่งั้นเราจะตรวจไม่ได้เลย จำเป็นต้องมีหน่วยตรวจ ทางประธาน กนศ. บอกว่า “จินตนาการมากเกินไป”

ทั้งที่จริง ๆ เรื่องนี้มีข้อแนะนำในรายงาน กมธ.ทั้งนั้นเลยว่าคุณต้องทำเพื่อเตรียมการต่าง ๆ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีเรื่องที่ต้องเตรียมหลายอย่าง เช่น ISDS, CL, แอลกอฮอล์เรื่องฉลากควบคุมแอลกอฮอล์ และเรื่อง UPOV ก็ไม่ได้ทำเลย

หากไทยจำเป็นต้องร่วม CPTPP ปรับแนวทางแบบนิวซีแลนด์ซึ่งไม่ร่วม UPOV ปรับกฎหมายภายในประเทศแทนได้หรือไม่

รายงานในหน้า 36 คณะกรรมาธิการจะบอกชัดเลย ว่าทำอย่างไร ถามว่าทำแบบนิวซีแลนด์ได้ไหม เค้าบอกว่า การที่พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช สิ่งที่ต้องทำ คือว่า อย่างพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย เช่น ข้าว เป็นสินค้าอ่อนไหวไม่สามารถใช้สิทธิขั้นต่ำของ UPOV คุ้มครองได้ การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงประเทศไทยจึงต้องไม่รับภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 แต่ควรจัดทำเพียงให้มีกฎหมายที่มีผลใกล้เคียงกับอนุสัญญา แต่ต้องมีข้อบทที่เหมาะสม ซึ่งข้อบทที่เหมาะสม

“ของเราต้องไม่เอาเท่ากับนิวซีแลนด์ต้องน้อยกว่านั้นอีก และต้องขอเวลาในการปรับตัวให้นาน เพื่อก่อนที่จะทำอย่างนั้นเราต้องมีการเตรียมการให้ทำฐานข้อมูล และสนับสนุนงบประมาณต่าง ๆ เราไม่เอาเท่ากับนิวซีแลนด์ ต้องมากกว่าเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี่เฉพาะเรื่องพันธุ์พืชอย่างเดียว ยังไม่รวมเรื่องอื่น”

“จริงๆแล้วตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลยโดยเฉพาะงบประมาณหรือฐานข้อมูลต่าง ๆ แต่แค่อยากจะเข้า นักธุรกิจก็ตะบี้ตะบันขอว่าอยากจะเข้า”

ในกระบวนการเข้าร่วมต้องระบุจดหมาย CPTPP ว่าไทยสามารถเลือกเจรจาอะไรบ้างไม่ได้บ้าง มองว่าการลดประเด็นอ่อนไหวนี้เป็นเทคนิคทำให้การการเจรจาง่ายขึ้นหรือไม่ เสมือนขอไขกุญแจเข้าไปก่อน ถ้าตกลงไม่ได้ค่อยถอนตัว

ก่อนจะไขกุญแจมาตกลงกันก่อน ตอนนี้มันแย่มาก สมัยก่อนในรัฐธรรมนูญปี 2550 มันยังมีร่างกรอบเจรจา ต้องผ่านรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มันไม่มีร่างกรอบเจรจา มันเป็นเพียงแต่คณะรัฐมนตรีทำ พิจารณาของตัวเอง

ซึ่ง “ทาง กมธ. จึงเสนอว่าต้องทำกรอบเจรจา” บอกว่า การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหว ซึ่งหากเจรจาไม่ได้ตามข้อสรุปไว้ก็ไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง เราบอกได้เลยว่าตอนนี้ยังไม่มีการทำกรอบเจรจา หรือถ้ามีก็ควรเปิดเผยออกมาว่าประเด็นนี้ถูกระบุไว้หรือไม่

นี่มันจึงไปสอดคล้องกับสิ่งที่ กนศ. ทำมาตลอดเลยว่า พยายามลดประเด็นอ่อนไหวลง เพื่อไม่ให้มีประเด็นอ่อนไหวเลยในกรอบเจรจา สิ่งที่คุณอ้างคือว่ามันจะไปลำบากในการเจรจา ซึ่งมันไม่ได้ เพราะกรอบเจรจาเป็นเรื่องความไว้วางใจระหว่างกัน ว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว ที่จะผูกพันไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งรัฐต้องดูแล ไปเจรจามาให้ได้

ถ้าสมมุติว่ามีการทำกรอบเจรจาเปิดเผยกัน เหมือนตอนนี้ที่กำลังทำกรอบเจรจา ไทย อียู เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา ซึ่งทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องทำก็ได้ แต่สิ่งที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศทำ เพราะไม่อย่างนั้นความไว้วางใจมันไม่เกิด มันก็จะเดินหน้าไม่ได้ ก็จะมีคอนเซินอยู่ไม่กี่เรื่องก็ใส่ไป ว่าต้องไปเจรจาให้ได้

วิธีการของ Head เจรจาต่างกันคนละกระทรวงการทำงานเลยแตกต่างกัน

ใช่ สไตล์ของกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะทำแบบนั้น (ไม่มีกรอบการเจรจา) ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ควร และถ้าย้อนหลังกลับไปกระทรวงนี้เคยมีผลงานเรื่องการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (JTEPA) ไม่สนใจรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนไทยกลายเป็นถังขยะโลกทุกวันนี้ ข้ออ้างในการเอาขยะมาทิ้ง ซึ่งเรื่องนี้พี่จะพูดจนถึงตายก็จะพูด เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเรารับขยะตลอดเวลา เราทำได้เพียงแค่ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะเทศบาล แต่ที่เหลือยังมีขยะอีกจำนวนมาก

“กรอบการเจรจาเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจ เพราะเราเชื่อว่านักเจรจาไทยไม่ได้ไปแพ้ชาติไหนในโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความอีโก้ และเป็นจะเป็นแบ็คให้คุณ การดำเนินการตามวิถีแบบเดิมมันใช้ไม่ได้ สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ และที่ญี่ปุ่นเจรจาในลักษณะ JTEPA ของไทย ไม่มีฉบับไหนเลยที่มีประเด็นเรื่องขยะแบบนี้ ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินสที่รับขยะเป็นแบบนี้“

ทางออกในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเรื่องร่วม-ไม่ร่วม CPTPP

คือ ต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันนั่นคือต้องมีกรอบเจรจา และกรอบเจรจาต้องสะท้อนประเด็นที่อ่อนไหวเหล่านี้ ต้องถูกระบุว่า ถ้าเจรจาไม่ได้ไม่เอา ไม่ใช่ตีเช็คเปล่าไปเจรจาแบบนี้ จะบอกว่าไปเจรจาก่อนค่อยกับมาผ่านรัฐสภา ก็อย่าลืมนะ ตอนนี้ยังเป็น ส.ว. 250 เสียง ขนาดรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านเลย ถ้าไม่มีเหตุมีผล ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลเอาอย่างไร ไม่ผ่าน

ถ้าขอไขกุญแจก่อน แล้วจะถอนตัวหลังจากนั้นได้ไหม

ก็รับปากมาด้วยกรอบเจรจาสิ อย่ารับปากด้วยปากเปล่า รับปากเปล่ามากี่ครั้งแล้ว ขนาดรับว่าจะเอา Concern ของ กมธ.ไปดู ยังไม่ได้ทำ

ประเด็นอ่อนไหวทั้งหมดมีทางออกในการเจรจาได้หรือไม่

บางอันมี บางอันไม่มี

ถ้ารัฐบาลไปเจรจาจริงแล้วเตรียมกองทุนเอฟทีเอไว้รองรับเพียงพอหรือไม่

กองทุนเอฟทีเอ ปัญหาก็คือว่าเค้ายังไม่สามารถทำให้มันเป็นกองทุนที่มีความยั่งยืนได้ 5,000 ล้าน พี่ยังไม่รู้ว่าจะไปเอางบประมาณมาจากไหน และคิดว่ามันจะไม่สามารถผ่านได้ง่ายในภาวะแบบนี้ ที่จำเป็นต้องใช้เงิน

“เรื่องกองทุนเอฟทีเอมีทั้งความไม่ยั่งยืน และการบริหารจัดการที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาควิชาการและภาคประชาชนพูดมาโดยตลอดว่าการทำความตกลงเอฟทีเอมันมีคนที่ได้และเสียประโยชน์แน่ ๆ ฉะนั้น จะแค่จ่ายเงินเพื่อจ่ายภาษีแวตหรือภาษีนิติบุคคลไม่ได้ สิ่งที่คุณต้องทำคือ คุณต้องจ่ายภาษีการได้ประโยชน์เชิงนโยบาย ตัดเงินของคุณมาลงในกองทุนด้วย”

ที่มาเงิน 5,000 ล้านบาท มาจากงบประมาณ ซึ่งมันควรจะเป็นแบบคล้ายกับกองทุนส่งเสริมการส่งออกที่ตัดจากผู้ส่งออก หรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนมา หาทางคิดเอาเงินจากคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่เอาเงินงบประมาณอย่างเดียว เพราะว่าทีผ่านมากองทุน 2 กระทรวงมีปัญหาเพราะให้ปีต่อปี เป็นก้อนเล็กๆ ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ ก็มีปัญหา

“ถึงที่สุดแล้วคุณต้องยอมรับก่อนว่ามันมีหลายเรื่องที่จะส่งผลกระทบจริง ๆ และมันก็จะทำลายขีดความสามารถของประเทศไทยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ยาจะมีราคาแพงขึ้น ยาใหม่เข้าสู่ตลาดได้น้อยลง รัฐวิสาหกิจอย่างองค์การเภสัชจะได้รับผลกระทบ นำไปสู่ภาระผูกพันที่จะส่งผลต่อหลักประกันสุขภาพ

ฉะนั้น พวกนี้จะเอาอย่างไร ถ้ายาแพงจะช่วยเฉพาะคนจน แต่หลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต้องให้ทุกคน คุณมาพูดว่าจะช่วยเฉพาะคนจนไม่ได้ ซึ่งรัฐเผด็จการมันคิดได้อย่างเดียว ไม่คิดจะทำรัฐสวัสดิการ แต่คิดจะทำลายมากกว่า “

ถ้าอย่างนั้นไม่เจรจา CPTPP เลยจะดีไหม

ที่บอกว่าถ้าเราไม่เจรจา CPTPP เราก็ต้องเจอประเด็นแบบนี้ในการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีฉบับอื่น ๆ ขอบอกว่ามันไม่จริง เพราะเราเข้าร่วมวง EFTA ของกระทรวงพาณิชย์ เราพบว่าเรื่อง UPOV ไม่มีการบังคับ ตอนนี้อียูหลัง ๆ เรื่องยาก็อ่อนลงเยอะ เรื่อง UPOV ก็ไม่เน้น

ฉะนั้น ใน CPTPP เราก็มีแล้ว 9 ประเทศ ส่วนที่ยังไม่มีก็กำลังจะเจรจาความตกลงเอฟทีเออาเซียน แคนาดา และกับเม็กซิโก กลายเป็นว่าเนื่องจากกว่าการเจรจา CPTPP มันเจรจาไม่ได้มีแต่ต้องไปรับและขอผ่อนผันเท่านั้น อยากให้คิดช้าหน่อยดีไหม ถ้าคุณบอกว่าประเด็นอ่อนไหวมันเยอะ ก็เค้าบอกให้เวลาเตรียมการมา 1 ปีแล้วยังไม่ได้เตรียม สิ่งที่บอกเลยว่า กมธ.บอกว่าบอกเป็นรายการเลยว่าจะต้องทำอย่างไร เป็นรายงานที่ชัดเจนฉบับหนึ่งที่เคยมีมา เพื่อเสนอเป็นทางออก ทางรองรับ แต่รัฐบาลมีสนับสนุนให้เข้า ทำไม่ไม่เตรียมการตั้งแต่แรก มีแต่บอกว่าเข้าใจผิด เข้าใจผิด

มองว่าควรไปเจรจากับประเทศอื่นอย่าง อียู เอฟต้า แคนาดา ยูเคแทน CPTPP เลยใช่หรือไม่

เท่าที่ดูกรอบเจรจาทุกกรอบ (ยกเว้นยูเคยังไม่ได้ดู ) มันเหลืออีกไม่กี่ประเด็น ถ้าเจรจามีความชัดเจนรับปากรับคำ Concern ทุกฝ่ายมีรูมให้เจรจาได้

ซึ่งกรอบอื่นไปได้ และไม่มีมาตรฐานสูง แต่เป็นประเด็นที่หลายประเทศเห็นแล้วว่าไม่ควรมากดดันกันให้ร่วม กรอบอื่นหลัง ๆ ก็ไม่ได้มีการกัดดันเรื่องพวกนี้

การเจรจาหลายกรอบเทียบกับเจรจา CPTPP กรอบเดียว ทำให้เปลืองทรัพยากรน้อยกว่าไม่ดีหรือ

แต่ CPTPP คุณจะไม่ได้อะไรเพิ่มนะ ได้แค่ เม็กซิโกกับแคนาดา แม้ว่าจะได้จีนเข้ามาคุณก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม เพราะคุณมีเอฟทีเออยู่แล้ว หรืออาจจะมีไต้หวัน ยูเคเข้ามาก็พอได้ เราต้องเจรจาไม่ใช่ไปรับ Text ที่เค้าเจรจาไว้แล้ว และมาบอกว่าง่ายและเร็ว เราอยากให้คุณเขียนกรอบชัด จะไปยื่นจดหมายเราก็ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่ไม่ทำและมาทำให้ประเด็นอ่อนไหวไม่เป็นประเด็นอ่อนไหว ไปบังคับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ไปปิดปากคนที่เห็นต่างแล้วบอกว่ามันไม่เป็นประเด็นอ่อนไหว

“จีนยื่นไต้หวันยื่นก็เป็นโอกาสให้คนที่โปรมาพูดว่าจะเข้าร่วม รายงาน กมธ.มันบอกชัดว่าต้องเตรียมการอย่างไร อย่างเรื่องเมล็ดพันธุ์ทางเวียดนามถูกบังคับเข้า UPOV ในสมัยที่สมัครมีเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนก็ถูกโดนเรื่อง Data Excusivity เช่นเดียวกัน เค้าก็ทุ่มวิจัยและพัฒนา แต่ว่าล่าสุดมี Paper อย่างว่าเค้าพึ่งเมล็ดพันธุ์บริษัทใหญ่”

“สิงที่เป็นปัจจัยในการดึงดูดการลงทุนของเวียดนามไม่ใช่ CPTPP แต่คือการ Recgulatery guillotine ซึ่งเวียดนามทำในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแต่ไทยไม่ทำเลย จนตอนนี้การลงทุนเข้าไปไม่ใช่แค่ CPTPP“