ปตท.จับตาโอเปกพลัสเพิ่มกำลังผลิต-ราคาน้ำมันโลกผ่อนคลาย

ปตท.มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้น ชี้จับตาโอเปกพลัส เพิ่มกำลังผลิตช่วยราคาน้ำมันโลกผ่อนคลายลง พร้อมมุ่งสู่เทรนพลังงานสะอาด “Go Green”-“Go Electric” ปรับวิสัยทัศน์องค์กร “powering life with future energy and beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเปิดประเทศรับต่างชาติ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “BOOST UP THAILAND 2022” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ประเมินว่าจะกลับมาเติบโตที่ 5.9% ส่งผลให้คาดการณ์ปี 2565 จะอยู่ที่ 5% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ในช่วงที่เผชิญสถานการณ์โควิด-19 ติดลบ 6% ส่วนในปีนี้ อยู่ที่ 0.7-1% และในปีหน้าก็หวังว่า จะเติบโตมากกว่านี้ ซึ่งมองว่าจากตัวเลขรายไตรมาสนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ จนไตรมาส 2 ของปีนี้ดีขึ้น ดังนั้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยจึงกำลัง Recover (ฟื้นตัว) และได้สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวแล้ว

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมัน เกิดจากความผันผวนไปตามตลาดโลก ปตท.ยังคงติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการประชุมองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) ได้จำกัดโควตาการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นเรื่องที่ต้องจับตาต่อเนื่องใกล้ชิด เพราะกลุ่มมีการหารือกันถี่ขึ้น โดยคาดว่าเดือนพฤศจิกายนจะมีการประชุมโอเปกพลัสอีกครั้ง ซึ่งหากมีการตกลงกันเรื่องการเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าแผนเดิม ก็หวังว่าราคาน้ำมันจะผ่อนคลายลง

ส่วนการใช้น้ำมันในประเทศนั้น เมื่อเทียบกับปีนี้ช่วงระหว่างครึ่งปีที่แล้ว ยังอยู่ในระดับทรงตัว ยกเว้น น้ำมันเครื่องบิน (Jet) ที่ยังคงติดลบ เนื่องจากการบินยังไม่กลับมาปกติ ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ เริ่มมีการฟื้นตัว ในการผลิตไฟฟ้า เติบโตขึ้นเกือบ 4% และในภาคอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น 7% รวมถึงภาคปิโตรเคมี เติบโต 6% จึงเป็นสัญญาณที่ดี ว่าภาคการผลิตกลับมาเริ่มกลับมา

“อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าจุดสูงสุด (Peck) ของน้ำมันโลก คือปี ค.ศ. 2025 และจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ส่วนแนวโน้มของการใช้ก๊าซธรรมชาติของโลก ยังโตอย่างต่อเนื่องจนถึง ปี ค.ศ. 2040 เพราะว่าก๊าซเป็นการใช้พลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุด และทั่วโลกก็มีการลงทุนในด้านนี้มาก ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะเป็นพลังงานทดแทนอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่มีผลต่อกลยุทธ์ การทำงานของบริษัทน้ำมัน หรือของ ปตท.เอง” นายอรรถพลกล่าว

สำหรับความท้าทายในช่วงหลังโควิด-19 นั้น คือ เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป และซัพพลายเชน ที่ต้องปรับตัว เมื่อเกิดภาวะวิกฤตจะไม่ล้มไปทั้งสาย ซึ่งเป็นเรื่องที่นักธุรกิจทั่วโลกต้องกลับมาทบทวน รวมถึงทั่วโลกตระหนักด้านสุขภาพมากขึ้น และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ทั้งหมดล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่เข้ามาผลกระทบต่อการทำธุรกิจของทั้งโลก รวมถึงในประเทศไทย และ ปตท.เองก็เช่นกัน

โดยในอนาคตแนวโน้มภาคอุตสากกรรมพลังงานต้องมุ่งสู่ Go green เพิ่มพลังงานทดแทนเข้ามา และคาดว่าภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC : COP) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ที่ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2608 สัดส่วนอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท.ให้ความสำคัญ และหลายบริษัทพลังงานแทบทุกบริษัทก็เริ่มใส่เม็ดเงินลงทุนพลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า EV พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงงาน กล่าวอธิบายง่าย ๆ ได้ว่า คำว่า “Go Green” และ “Go Electric” ซึ่ง Go green คือจากเดิมใช้พลังงานฟอสซิล ในระยะยาวกลายเป็นการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนด้าน Go Electric คือ การใช้ไฟฟ้าที่สะดวกและสะอาด เพราะสิ่งที่จะผลักดันคือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนานวัตกรรมของแบตเตอรี่

“หลายประเทศก็ประกาศจุดยืนของตัวเอง ด้านประเทศไทยก็มีการประกาศจุดยืนว่าในปี 2065 จะมุ่งสู่การเป็น Net Zero จึงทำให้บริษัทพลังงาน ต่างเริ่มหันไปลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งนี้ ปตท.ได้ปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน โดยปรับวิสัยทัศน์ขององค์กร “powering life with future energy and beyond” หรือขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคตถือเป็นจุดมุ่งหมาย มุ่งไปสู่พลังงานของอนาคต และยังคงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ซึ่งบียอน (Beyond)  จะเป็นการขับเคลื่อนออกไปนอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน”

ดังนั้น ด้านพลังงานอนาคตจะเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ทาง ปตท.เองจะเข้าไปเสาะแสวงหาพลังงานเหล่านี้ด้วย ไปหาแหล่งการผลิต เพราะเมื่อโลกเปลี่ยน ไทยเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วย และจะเป็นตัวที่นำพาประเทศไทยไปถึงจุดที่สร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) อีกขั้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยสิ่งเหล่านี้ต้องการการลงทุน การผลักดัน จากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ไม่ใช่เพียงรายใดรายหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน

โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนและแบตเตอรี่ หรือตัวกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เนื่องจากพลังงานทดแทนมีข้อเสียคือ เรื่องความไม่เสถียร เพราะลมหรือแดดไม่ได้มีตลอดเวลา ดังนั้น ตัวที่จะทำให้พลังงานทดแทนมีความนิ่งได้ก็คือ เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ ด้านรถยนต์อีวี ถ้าใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้ประเทศไทยขัเคลื่อนสู่พลังงงานมากขึ้น รวมทั้งมีการศึกษาพลังงานไฮโดรเจนด้วย ดังนั้น เรื่องพลังงานทดแทนนั้น ปตท.ตั้งเป้ากำลังผลิตไว้ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน

ส่วน Beyond ที่กล่าวข้างต้นนั้น ก็จะมีพื้นที่ที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุน ได้แก่ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) ธุรกิจเรื่องสุขภาพ เรื่องยา เครื่องมือทางการแพทย์และอาหารเสริม อีกส่วนคือสินค้ามูลค่าสูง เป็นการต่อยอดจากปิโตรเคมี โดยพลาสติกที่มีมากกว่าพันชนิด ซึ่ง ปตท.จะไปลงทุนในกลุ่มสินค้าพลาสติกที่ใช้เทคโนโลยีสูง ๆ มากขึ้น อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และด้านไลฟ์สไตส์ ที่จะทำการลงทุนมากขึ้น โดย อาร์โอ (PTTOR) ก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ในต้นปี

“เราต้องปรับตัวจากที่ทำธุรกิจด้านน้ำมันอย่างเดียว ไปสู่ธุรกิจไลฟ์สไตส์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลงทุนพัฒนาด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟรางคู่ เป็นต้น เทคโนโลยี เอไอ หุ่นยนต์ ดิจิทัลด้วย โดยบียอนมาจากเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ ปตท.ก็จะเข้าไปมีส่วนหนึ่งในการลงทุนนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย”

สำหรับความพร้อมในการเปิดประเทศ ขณะนี้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศ น่าจะเริ่มคลี่คลายขึ้น แต่เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมพร้อมเปิดประเทศ กลุ่ม ปตท. พร้อมสนับสนุนการเปิดประเทศด้านสาธารณสุข อำนวยความสะดวกภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน

“เมื่อเปิดประเทศ ต่างชาติก็อุ่นใจว่าเข้ามาแล้วมีการรักษาที่ครอบคลุม ด้วย ปตท.ได้มีโครงการลมหายใจเดียวกัน เข้าถึงได้ สะดวก รวดเร็ว มีเตียงรองรับเพียงพอ” นายอรรถพลกล่าวในที่สุด