แผนระบายน้ำ 141,600 ล. จากบางบาล-บางไทรถึงวงแหวนรอบ 3

แฟ้มภาพ

ครม.ได้อนุมัติในหลักการการให้เตรียมความพร้อมสำหรับ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา โดยโครงการนี้เป็น 1 ใน 9 แผนงานการบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ตามแผนการพัฒนาโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะประกอบไปด้วยโครงการหลัก 4 โครงการด้วยกันคือ โครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร วงเงิน 17,600 ล้านบาท, โครงการคลองระบายน้ำหลากฝั่งตะวันออก (คลองชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย) วงเงิน 122,888 ล้านบาท, โครงการคลองระบายน้ำคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 124,000 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คลองถนน-อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง) วงเงิน 24,100 ล้านบาท

คลองบางบาล-บางไทร

โครงการนี้แม้ว่า ครม.จะมีมติเห็นชอบในหลักการเป็นโครงการแรก แต่เป็นการเห็นชอบเฉพาะ “การเตรียมความพร้อม” ยังไม่อนุมัติในแผนงานและงบประมาณ โดยรายละเอียดของโครงการจะประกอบไปด้วยการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่จากบริเวณ อ.บางบาล-อ.บางไทร พร้อมอาคารประกอบตามแนวคลองระยะทาง 22.4 กิโลเมตร มีความสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที ก่อสร้างถนนบนคันคลอง 2 ฝั่งรวมความกว้างเขตคลอง 245 ม. มีประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา 2 แห่ง (ปตร.บางบาล-ปตร.บางหลวง) ปตร.ปลายคลองบางบาล-บางไทรอีก 1 แห่ง พร้อมก่อสร้างเขื่อนพระนครศรีอยุธยาในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ก็คือ สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ประมาณ 0.4-0.8 ล้านไร่ และยังสามารถลดระดับ “ความลึก” ของน้ำที่ท่วมมากกว่า 1 เมตรได้อีก 1.6 ล้านไร่ พร้อมเป็นแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมรวม 229,138 ล้านไร่ และยังเป็นเส้นทางน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาได้ด้วย หากมีการก่อสร้างจริงจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี (2562-2565)

 

คลองระบายน้ำวงแหวนรอบที่ 3

กรมชลประทานร่วมกับ JICA ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะทำแนวทางการระบายน้ำควบคู่ไปกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 โดยสามารถระบายน้ำสูงสุดผ่านคลองได้ประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที รายละเอียดของโครงการจะประกอบไปด้วย คลองระบายน้ำยาว 110.58 กม. เริ่มขุดคลองบริเวณใต้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาลงมา มีอาคารประกอบต่าง ๆ

2 ฝั่งคลองจะเป็นถนนวงแหวนรอบที่ 3 และถนนท้องถิ่น ผลประโยชน์ที่จะได้รับหากดำเนินโครงการนี้ก็คือ จะช่วยระบายน้ำอ้อมพื้นที่กรุงเทพมหานครทางฝั่งตะวันออก และยังช่วยตัดยอดน้ำหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (อยุธยา) ลงได้อีก 500 ลบ.ม./วินาที แต่การดำเนินการจะต้องเวนคืนที่ดินควบคู่ไปกับการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งสามารถลดพื้นที่การเวนคืนได้ระดับหนึ่ง

เมืองนิเวศตามแนวคลอง

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TEAM GROUP ในฐานะนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมไปถึงตัว พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงตัวโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร แม้ว่าโครงการจะสามารถระบายน้ำได้ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา “คอขวด” ของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านอยุธยาด้วยการขุดคลองลัด อันจะบรรเทาผลกระทบน้ำหลากบริเวณเกาะเมืองอยุธยาและการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่โดยสภาพการณ์แล้ว โครงการนี้จะเป็นการ “ยก” หรือ “ย้าย” มวลน้ำที่ท่วมบริเวณเกาะเมืองอยุธยามาไว้บริเวณ อ.บางบาล และพื้นที่โดยรอบ

ชวลิต จันทรรัตน์

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การระบายน้ำช่วงจาก อ.บางไทร ลงสู่อ่าวไทย จะได้รับอิทธิพลจากช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง ไม่สามารถระบายน้ำได้ตลอดเวลา และยังต้องคำนึงถึงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบริเวณจุดสบกันของลำน้ำเจ้าพระยาเดิมกับคลองระบายน้ำที่ขุดใหม่ “เรื่องที่ยากที่สุดก็คือ การระบายน้ำผ่านคลองต้องสัมพันธ์กับช่วงน้ำขึ้นน้ำลง คลองนี้ไม่สามารถระบายน้ำทั้ง 1,200 ลบ.ม./วินาทีลงทะเลได้ตลอดเวลา มันจะต้องเปิดปิดเป็นเวลา ตรงนี้จะต้องใช้ประตูระบายน้ำปากคลองกับประตูระบายน้ำปลายคลอง สอดคล้องกันกับประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์จะช่วยได้มาก รวมไปถึงอาจจะต้องเสริมคันกันน้ำเจ้าพระยา จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50 เมตรขึ้นไปอีก” นายชวลิตให้ความเห็น

ส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เหมาะสมที่ดำเนินการ “มากกว่า” โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรก็คือ โครงการระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 แม้ว่าจะสามารถระบายน้ำได้ 500 ลบ.ม./วินาที แต่สามารถระบายน้ำผ่านคลองออกอ่าวไทยได้ โดยตรงจากการวางแนวคลองและแนวถนนให้เหมาะสมกับลาดการไหลตามธรรมชาติของคลอง กำกับด้วยอาคารควบคุมน้ำกลางคลอง-ปลายคลองให้เหมาะสม มีทางเรือผ่านเพื่อให้เก็บสำรองน้ำและใช้เพื่อการเดินเรือได้ตลอดทั้งปีด้วย

“โครงการนี้สามารถนำดินที่จะขุดขึ้นมาจากคลอง มาพัฒนาเป็นเมืองเชิงนิเวศตามแนวคลองผันน้ำเพื่อเชื่อมต่อกับศูนย์กลางเมืองหลัก ๆ ได้อีกด้วย โดยสิ่งที่ควรจะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ก็คือ การจัดหาและเวนคืนที่ดินควรจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งคลองระบายน้ำและถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งจะต้องสร้างเพื่อลดความแออัดของการคมนาคมในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่แล้ว” นายชวลิตกล่าว