EEC จ่อชงงบบูรณาการปี’66 เข้าบอร์ดทั้ง 5G EV ต้องเกิด

EEC เปิด 4 แนวทางแผนงานบูรณาการเตรียมชงเข้าบอร์ดงบปี 2566 วางเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากร ดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5G EV ต้องเกิด

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวในงานเสวนา “เปิดความสำเร็จการเป็นต้นแบบแผนงานบูรณาการสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน” ว่าความสำเร็จทุกโครงการที่เกิดขึ้นใน EEC ช่วง 3-4 ที่ผ่านมา เกิดจากการร่วมทำแผนงานบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะงบบูรณาการที่ทางสำนักงบประมาณ ได้ดึงโครงการใน EEC เข้าไปร่วมด้วย ส่งผลให้มีการลงทุนในพื้นที่ทะลุเป้า 1.7 ล้านล้านบาทตามแผนที่วางไว้

คณิศ แสงสุพรรณ
คณิศ แสงสุพรรณ

ขณะที่ปี 2565 เป็นต้นไปเป้าหมายนับจากนี้คาดว่าจะไปถึงที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยสำคัญจะมุ่งไปเรื่องของการพัฒนาพื้นที่อย่างการสร้างเมืองใหม่ สานต่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เสร็จ ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่โครงการ พัฒนาบุคลากร และดึงการลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ทั้ง 5G EV แพทย์สมัยใหม่ BCG ที่จะมีการลงทุนเข้ามาปีละ 100,000 ล้านบาท

“งบบูรณาการของ EEC แต่ละปีไม่มาก 200-300 ล้านบาทเท่านั้น แต่เราก็ยังสามารถทำได้ตามแผนโดยงบบูรณาการปี 2566 คาดว่าจะเสนอเข้าบอร์ด EEC เร็ว ๆ นี้จากนั้นเราก็จะเดินหน้าตามแผนที่เราวางไว้ ทั้งการพัฒนาด้านอื่น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานจัดทำข้อเสนอโครงการและงบประมาณ ให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเตรียมกำหนดเป้ามาย แนวทาง ตัวชี้วัด ให้มีประสิทธิภาพบรรลุเป้าหมายของแผนงานบูรณาการฯ ในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566”

สำหรับการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ ในปีงบประมาณ 2566 EEC ได้กำหนด 4 แนวทางตามภารกิจที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่

1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

2.พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์

3.พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม

4.ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ แผนงานบูรณาการฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของ GDP ทั้งในระดับพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศ

สำหรับแผนงานบูรณาการ EEC ถือเป็นต้นแบบสร้างการมีส่วนร่วม รัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาชน ตั้งแต่จัดทำแผน บริหารทรัพยากรร่วมกัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในพื้นที่ EEC ด้วยแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา” มุ่งเน้นใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด