กรมมลพิษบังคับใช้น้ำมันยูโร 5 โรงกลั่นดิ้นราคาขึ้น 50 สต./ลิตร

ภาพจาก แฟ้มภาพ

กรมควบคุมมลพิษ จ่อออกประกาศบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ปี หวังลดค่ากำมะถันเหลือ 10 PPM ให้ทุกโรงกลั่นปรับกระบวนการผลิต คาดต้องใช้เงินลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท แต่กลับผลักภาระให้ประชาชนแบกรับด้วยการบวกค่าน้ำมันอีก 50 สตางค์/ลิตร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ-กระทรวงพลังงาน-กลุ่มโรงกลั่น น้ำมัน-กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ เพื่อผลักดันให้มีการผลิตน้ำมันภายใต้มาตรฐานยูโร 5 โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้ลดการปล่อยค่ากำมะถันลงอีกจาก 100 PPM ในมาตรฐานยูโร 4 เป็นให้เหลือ 10 PPM ภายใต้มาตรฐานยูโร 5 ปรากฏหลังการหารือสิ้นสุดลง ทางฝ่ายราชการได้มีการออกข่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุป “รับหลักการ” ที่จะผลิตน้ำมันยูโร 5 แล้ว โดยภายในปี 2561 จะมีการออกประกาศอย่างเป็นทางการให้โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศทุกโรง ต้องผลิตน้ำมันภายใต้มาตรฐานยูโร 5 ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็จะต้องลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตและสายการผลิต รถยนต์ให้เติมน้ำมันยูโร 5 ให้แล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565) ส่วนต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นให้นำมาบวกเพิ่ม+ ในราคาขายปลีกน้ำมันได้ไม่เกิน 50 สตางค์/ลิตร

ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แสดงความต้องการให้โรงกลั่นน้ำมันทุกโรง ปรับปรุงกระบวนการกลั่นให้เร็วที่สุด เนื่องจากตามข้อมูลในปัจจุบันจะพบว่า มีโรงกลั่น

น้ำมันในประเทศที่ได้มาตรฐานยูโร 5 แล้ว 1 โรง ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมันอีกหนึ่งโรงได้ยื่นแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในพื้นที่ส่วนขยายของโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อติดตั้งเครื่องมือแลtอุปกรณ์การกลั่นให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ด้วย

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเกิดความเชื่อเอาเองว่า ในทางปฏิบัติโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีความพร้อมที่จะพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันให้ ได้มาตรฐานยูโร 5 อยู่แล้ว ทว่าในสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในปัจจุบันก็ยังมีโรง กลั่นน้ำมันอีกส่วนหนึ่ง อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกระบวนการกลั่นน้ำมันยูโร 5 เนื่องจากยังมีปัญหาในเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งสูงมากกว่า 10,000 ล้านบาท (รวมทุกโรงกลั่นเกือบ 80,000 ล้านบาท)

“โจทย์สำคัญก็คือ เราไม่สามารถควบคุมปริมาณรถยนต์บนท้องถนนได้ แต่เราคุมการปล่อยมลพิษได้ กระทรวงจึงโฟกัสมาที่มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ซึ่งเราศึกษารายละเอียดมาก่อนหน้านี้ถึง 2 ปีแล้ว”

คำถาม 5 ข้อของโรงกลั่น

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันกล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันต้องการให้คณะทำงานตอบ “คำถาม” ให้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 ว่า 1) ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคุ้มค่ากับการลงทุนในโรงกลั่นแต่ละโรง

มากกว่า 10,000 ล้านบาทหรือไม่ 2) ใครจะออกมาการันตีได้หรือไม่ว่า ประเทศไทยจะประหยัดในแง่ของเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากมลพิษได้มากน้อยแค่ไหน

3) การกำหนดให้บวกรวมต้นทุนที่เกิดจากการปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อให้ได้มาตรฐาน ยูโร 5 ได้ไม่เกิน 50 สตางค์/ลิตร ให้ประชาชนเป็นผู้รับภาระ หรือภาครัฐควรปล่อยให้สะท้อนตามกลไกของตลาด 4) ต้องการความเห็นจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ว่า รถยนต์ในปัจจุบันสามารถใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้หรือไม่ และ 5) ในกรณีที่รถยนต์ในปัจจุบันสามารถใช้น้ำมันได้ทั้งมาตรฐานยูโร 4 และ 5 แล้ว ค่าการปล่อยกำมะถันนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ หากทดสอบแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน ก็ไม่ควรเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันหรือไม่

ส่วนการคาดการณ์ว่า การใช้น้ำมันทั่วโลกจะลดลงและถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้านั้น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันยังมีความเชื่อมั่นว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี เท่ากับว่าในขณะนี้ น้ำมันยังคงเป็นพลังงานหลักที่ผู้บริโภคยังเลือกใช้อยู่

“ถ้ามองในภาพใหญ่ของการลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันทั้งระบบ น่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวภาครัฐก็ทราบดี การลงทุนมหาศาลขนาดนี้ ผู้ลงทุนก็ต้องหาเงินมาใช้คืน เพราะเป็นธุรกิจ”

ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันรายหนึ่งแสดงความสงสัยถึงสิ่งที่กระทรวงทรัพยากรฯกำลังดำเนินการอยู่

ค่ายรถขานรับน้ำมันยูโร 5

ขณะที่ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เห็นพ้องกับนโยบายดังกล่าวที่ภาครัฐเตรียมบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ในปี 2565 เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการควบคุมมลพิษจากรถยนต์ ทางฮอนด้าก็มีความพร้อมจะสนองตอบนโยบายดังกล่าว โดยผู้ผลิตรถยนต์จะทยอยส่งรถยนต์ที่รองรับกับมาตรฐานดังกล่าวออกสู่ตลาดได้ ภายในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า รถยนต์มาสด้านั้นเป็นการผลิตตามนโยบาย “โกลบอลแพลตฟอร์ม” และรถยนต์ของมาสด้าสามารถรองรับน้ำมันมาตรฐานยูโร 6 อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ก็พร้อมที่จะขานรับนโยบายดังกล่าวของภาครัฐ

นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าภายในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยจะเปลี่ยนการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 และรัฐบาลก็ให้ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ส่วนนางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ กล่าวว่า ปัจจุบันรถอีซูซุของเราสามารถรองรับมาตรฐานยูโร 5 ได้อยู่แล้ว ขณะที่ค่ายรถยนต์โตโยต้าเห็นว่า การดำเนินงานทุกอย่างจะต้องทำในลักษณะของการค่อยเป็นค่อยไป