แปลง “ความเย็น” เป็น “กำไร” ปตท.-บีไอจี ผุดโรงแยกอากาศ ASU

MAP

โรงแยกอากาศ ASU ของบริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด หรือ MAP ที่เพิ่งเปิดดำเนินการไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 จากความร่วมมือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ร่วมลงทุนด้วยงบประมาณ 2,000 ล้านบาทในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

ถือเป็นโรงแยกอากาศแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต่อยอดนวัตกรรมการใช้ประโยชน์ของความเย็นจาก LNG มาผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน ด้วยกำลังการผลิต 450,000 ตันต่อปี มาใช้ประโยชน์แทนที่จะปล่อยไปกับน้ำทะเลแบบในปัจจุบัน จึงถือว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 28,000 ตันต่อปี

โครงการนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ที่จะช่วยเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero emissions ตอบโจทย์การค้าโลกอนาคต ซึ่งในการสัมมนา The Shape of Future : Utilization of LNG Cold Energy in ASU towards Net Zero Emissions เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้

นายพงษ์ศักดิ์ เหลืองจินดารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป MAP กล่าวว่า กระบวนการแยกอากาศโดยใช้ความเย็นจาก LNG จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้า 20% หรือ 30,000 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับกระบวนการแยกอากาศทั่วไป ซึ่งตอบโจทย์การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ

อีกทั้งขณะนี้คู่ค้าสหภาพยุโรป (EU) มีนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมาตรฐานบังคับใช้ให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปอียู ดังนั้น โครงการนี้จะทำให้ลูกค้าที่ใช้ก๊าซอุตสาหกรรมได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการผลิต ถือว่าเป็น sustainable offering ช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับการช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลักดันประเทศไทยเข้าใกล้ net zero emissions เร็วยิ่งขึ้น

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ BIG กล่าวว่า บีไอจีจะร่วมกับแคมเปญ “Third by ’30” ของบริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคัลส์, อิงก์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ใน 3 จากปี 2558 ถึงปี 2573 ผ่านโครงการต่าง ๆ

โดยบีไอจีจะเน้นการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยนำนวัตกรรมจากก๊าซอุตสาหกรรมไปปรับใช้ (optimize) เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงการมี digital platform เข้ามาอำนวยความสะดวก รองรับยุค 4.0

และสร้างมูลค่าด้วยการลดคาร์บอน (carbon reduction value) ซึ่งบีไอจีจะเป็นพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งโรงแยกอากาศ ASU จะเป็นจุดเริ่มต้น การใช้นวัตกรรมความเย็นจากก๊าซธรรมชาติ LNG ในโรงงาน

“ผมมองว่า โควิดมีวัคซีน แต่ climate change ไม่มีวัคซีน เราจะใช้นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยลดคาร์บอน ต่อไปเราจะดูแลภาคการผลิตของเราให้ลดการปล่อยคาร์บอนให้มากที่สุดด้วย”

ปตท.ต่อยอดธุรกิจก๊าซ

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า กระบวนการแยกอากาศนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อธุรกิจของ ปตท. เพราะ ปตท.เป็นบริษัทรายแรกในการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ

ปตท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ตามวิสัยทัศน์ Powering life with future energy and beyond มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2573 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 เพื่อผลักดันการลงทุนในพลังงานอนาคต อาทิ พลังงานจากไฮโดรเจน

ปตท.ได้ต่อยอดนวัตกรรมความเย็นหลายโครงการ อาทิ สตรอว์เบอรี่ ที่ปลูกและนำมาจำหน่ายคาเฟ่ ฮารุมิกิ เฮ้าส์ การต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์ เป็นต้น