บูสต์เศรษฐกิจไทยด้วยภาคเกษตร เปิดโผ “พืชเศรษฐกิจ” แห่งอนาคต

พืชเกษตร

หลังเกิดการระบาดโควิด-19 ไทยในฐานะครัวของโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลายมิติ ทั้งการเเข่งขันรุนแรง ปัญหาโรคระบาด การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งท้าทายประเทศที่มีประชากรกว่าครึ่งอยู่ในภาคเกษตร

สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองแนวโน้มพืชเศรษฐกิจในอนาคตปีหน้า 2565 พร้อมประกาศยกระดับปฏิรูปภาคเกษตรร่วมกับภาคเอกชน booster เกษตรไทย สู่เกษตรมูลค่าสูงเพราะการสร้างความมั่นคงทางอาหาร คือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในอนาคต

จีดีพีเกษตรปี’65 โต 2-3%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 ขยายตัว 1.5% จากปี 2563 ที่ติดลบ 3.3% จากที่ไทยยังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต่อเนื่องจากปี 2563 ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ทิศทางราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับสินค้าเกษตรไทยมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ

ทาง สศก.คาดการณ์ว่า ภาพรวมจีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัว 2.0-3.0% (กราฟิก) โดยสาขาพืชขยายตัวมากสุด 2.7-3.7% รองลงมาคือสาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.7-1.7% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 3.0-4.0% และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.5-2.5% และสาขาประมง ขยายตัว 0.2-1.2%

“จีดีพีภาคเกษตรปีหน้าเติบโตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงความแปรปรวนของสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะความรุนแรงของพายุและสถานการณ์นํ้าท่วมหลาก ซึ่งอาจทําให้พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ที่สำคัญคือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โอไมครอน เป็นความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบใหม่ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าของโลกฟื้นตัวได้ช้า”

“อีกทั้งประเทศมหาอำนาจจีน-สหรัฐเริ่มกลับมาแข่งขันเข้มข้นขึ้น ไทยมีคู่แข่งมากขึ้น และยังมีความท้าทายการระบาดของโรคพืชและสัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศส่งผลต่อการผลิต ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หากค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าเกษตรไทย รวมไปถึงราคานํ้ามันดิบที่มีทิศทางสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย สารเคมีกําจัดโรคและแมลง อาหารสัตว์ และส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ ยางพารา และพืชพลังงานทดแทนต่าง ๆ”

สินค้าดาวรุ่ง-ดาวร่วง

ปีหน้า 2565 สินค้าเกษตรที่คาดว่า “ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น” มี 7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา มันสําปะหลัง อ้อยโรงงาน ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และโคเนื้อ โดยยางคาดว่าความต้องการใช้ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น ส่วนมันสําปะหลังไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

อ้อยโรงงาน จากราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่โคเนื้อ ไก่เนื้อ สุกร ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และไข่ไก่ ผลจากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา

ส่วนสินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะอยู่ใน “เกณฑ์ดี” ได้แก่ ข้าว ปาล์มนํ้ามัน ทุเรียน และมังคุด โดยข้าวมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ ปาล์มนํ้ามันเนื่องจากราคาเป็นไปตามทิศทางราคานํ้ามันปาล์มดิบในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เเละต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น

ส่วนทุเรียนและมังคุดยังทรง ๆ แต่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และได้รับการส่งเสริมจากการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการในการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดและผู้บริโภค

ขณะที่สินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะอยู่ในระดับ “ใกล้เคียง” กับปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ลําไย เงาะ นํ้านมดิบ กุ้งขาวแวนนาไม โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีประกันรายได้ และที่สำคัญคือจากแนวโน้มความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนสับปะรดโรงงานคาดว่าจะมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ลําไยและเงาะตลาดโลกยังต้องการ ส่วนนํ้านมดิบเนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อนํ้านมดิบ ส่วนภาคประมง เนื่องจากราคากุ้งของไทยยังถูกกําหนดโดยราคากุ้งในตลาดโลกเป็นหลัก จึงไม่สามารถปรับราคาให้สูงขึ้นได้ แม้จะยังมีความต้องการของตลาดต่างประเทศซึ่งยังเป็นฐานลูกค้าเดิม

ข้าว-น้ำตาล-ยาง-ทุเรียน ยังแรง

ส่วนแนวโน้มการส่งออกที่มาแรงสุด ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ยางพารา น้ำมันปาล์ม สับปะรด ทุเรียน ลำไย และมังคุด เพราะตลาดยังมีความต้องการอีกมาก ที่สำคัญไทยยังส่งออกดีต่อเนื่อง ทั้งยังรักษามาตรฐาน ส่วนปานกลางส่งออกใกล้เคียงเป็นกลุ่มสินค้าประมงที่มีฐานลูกค้าเดิม แต่ต้องจับตาปัญหาการขาดแคนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าเงิน

ขณะที่สินค้าส่งออกที่จะมีแนวโน้มลดลงชัดเจนที่สุด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะความต้องการในประเทศเพิ่มสูง ทำให้ตลาดอาเซียนที่เป็นประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มลดลง

“ที่ผ่านมาจุดอ่อน และความท้าทายที่ชัดที่สุด คือ เกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นต้นที่ราคาไม่สูง และเกษตรกรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การเข้าถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ไม่มาก ส่วนที่เป็นคนรุ่นใหม่ยังปรับตัวกับยุคดิจิทัลการผลิตที่สอดรับกับรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่”

“ดังนั้น การที่จะสู้กับการแข่งขันทุกปัจจัยได้ เราต้อง booster เพิ่มมูลค่าสูง สศก.ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง สื่อสารให้ชัดเจน จัดสรรทรัพยากร งบประมาณ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้ข้อมูล ตลาด กฎระเบียบ ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจ BCG โลจิสติกส์ การจัดทำระบบประกันภัยพืชผล ลดการพึ่งแค่การประกันรายได้ให้เกษตร” นายฉันทานนท์กล่าว

จี้รัฐ Booster เกษตรมูลค่าสูง

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เพนพอยต์ที่ทุกประเทศต้องกลับมามองทางรอดของประเทศ ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในฐานะที่ไทยเป็นครัวของโลก ภาคการเกษตรควรเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับมีสิ่งที่น่าตกใจว่าปัจจุบันไทยมีพื้นที่เกษตร 138 ล้านไร่ และสามารถสร้าง GDP ได้เพียง 6.22% มีมูลค่า 3.428 แสนล้านบาท

อนาคตภาคเกษตรควรมองหาสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคต (future food) เป็นทางเลือก สร้างโอกาสของเกษตรกรไทย โดยการสร้างมาตรฐาน พัฒนาพืชผลิตโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ช่วยลดภาวะเรือนกระจก โดยอาศัยจุดแข็งที่ไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบอย่างมาก หากจะ boost up ภาคเกษตร ต่อยอดผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืช แมลง หรือการเพาะเชื้อราเป็นเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นโอกาสในอนาคต

“หากวันนี้ไทยจะเป็นครัวของโลก ต้องเริ่มจากการสร้างวัตถุดิบที่มีแล้วเพิ่มมูลค่า ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯผลักดันให้รัฐบาลยกระดับการเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ โดย ส.อ.ท.อาสาขับเคลื่อนจนเกิดการร่วมมือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ผ่านโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ ในพืช 5 ชนิด ข้าวโพด อ้อย ปาล์ม ยาง มะเขือเทศ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นโมเดลที่ควรพัฒนาต่อ”

ด้านนายคมกริช นาคะลักษณ์ รองประธานคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ปัญหาหลักในขณะนี้คือพื้นที่เกษตรของไทยส่วนใหญ่ถูกใช้ปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ เช่น ปี 2555-2559 ไทยปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ใช้พื้นที่ปลูก 109 ล้านไร่ สร้างรายได้ 7 แสนล้านบาท ถัดมาปี 2560-2564 พื้นที่เพาะปลูกลดลงเหลือ 106 ล้านไร่ สร้างรายได้ 6.3 แสนล้านบาท

ขณะที่การปลูกผลไม้ ใช้พื้นที่ปลูก 2.58 ล้านไร่ สร้างรายได้ 63,000 ล้านบาท และเมื่อปี 2560-2564 เพิ่มพื้นที่ 3.5 ล้านไร่ สามารถสร้างรายได้ 1.3 แสนล้านบาท

ฉะนั้น หากปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนไปปลูกพืชที่ประเทศไทยมีศักยภาพ “ใช้พื้นที่น้อยแต่สามารถทำรายได้ให้ประเทศมากกว่า” เช่น ปรับเปลี่ยนพื้นที่ 10% ปลูกพืชที่มีการสร้างมูลค่าสูง เช่น ผลไม้ ทุเรียน มังคุด ลำไย 10 ล้านไร่ จะสามารถสร้างรายได้ต่อประเทศ 773,000 ล้านบาท เทียบเท่าร้อยล้านไร่