หมูแพง ปิดแผงขายเพียบ ต้นทุนพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

แผงหมู

แผงขายหมูปิดระนาว รับไม่ไหวต้นทุนหน้าฟาร์มขึ้น 2 รอบ 45 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดรอบ 40 ปี ต้องขยับราคาหน้าเขียง ทะลุ 230 บาท หวั่นรัฐใช้มาตรการกำหนดราคาควบคุมปลายทาง บีบเขียงตรึงราคา ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านอาหาร กระอักต้นทุนหมูแพงปรับขึ้นราคาอาหารแล้ว 2- 5 บาท

สถานการณ์การผลิตหมูลดลงกว่า 50% จากผู้เลี้ยงรายย่อย “ต้นน้ำ” ไม่สามารถแบกรับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาโรคระบาดได้ ต้องยุติการเลี้ยง 80-90% แต่ล่าสุดสถานการณ์เริ่มรุนแรงขยายวงสู่แผงค้าหมูและผู้บริโภคปลายน้ำแล้ว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาด แผงค้าหมู ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีเริ่มเห็นการปิดแผงหมูแล้ว

นายสังวาล นาคสุ่ม เจ้าของร้านหมู ในตลาดประชานิเวศน์ 1 เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดประชานิเวศน์ 1 เหลือแผงหมู แค่ 2 แผงจากเดิมที่มี 5-6 แผง หลังจากที่สถานการณ์ราคาหมูปรับสูงขึ้น 2 ครั้ง เมื่อวันพระ 2 รอบที่ผ่านมา

โดยรอบแรกปลายเดือนธันวาคม ปรับขึ้น กิโลกรัมละ 25 บาท รอบที่ 2 วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ปรับขึ้นอีก 20 บาท รวมเป็น 45 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ปัจจุบันราคาขายส่ง หมู (หมูซีก) อยู่ที่กิโลกรัมละ 123 บาท เป็นต้นทุนที่สูงที่ไม่เคยพบมาก่อนตั้งแต่คลุกคลีในวงการหมูมา 40 ปี และขายยาก

จากราคาดังกล่าว แผงก็จำเป็นต้องปรับราคาขายอีกชนิดละ 20 บาทต่อกิโลกรัม โดยหมูเนื้อแดงขึ้นจาก 210 บาท เป็น 230 บาท สันนอก จากกิโลกรัมละ 220 เป็น 240 บาท เนื้อสันในและสันคอ จากกิโลกรัมละ 235 เป็น 255 บาท เนื้อสามชั้น จากกิโลกรัมละ 245 เป็น 265 บาท

กระดูกซี่โครงหมู จากกิโลกรัมละ 200 เป็น 220 บาท ซี่โครงอ่อน จากกิโลกรัมละ 210 เป็น 230 บาท ตับหมู จากกิโลกรัมละ 150 เป็น 170 บาท เครื่องใน ไส้อ่อน จากกิโลกรัมละ 180 เป็น 200 บาท หมูบด จากกิโลกรัมละ 190 เป็น 210 บาท มันหมู จากกิโลกรัมละ 80 เป็น 100 บาท และขาหมู จากกิโลกรัมละ 100 เป็น 120 บาท

“แนวโน้มราคามีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปอีก อาจจะถึง 300 บาท ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งทางแผงคงไม่สั่งหมูแต่ไม่ปิดแผง คงขายเท่าที่มี เพราะตอนนี้ลูกค้าลดการไหว้ลงไปมาก บางคนไหว้รวมสารทจีน ตรุษจีน และเปลี่ยนไปไหว้ด้วยสินค้าอื่น ผลกระทบนอกจากตลาดประชานิเวศน์ 1  แล้วได้รับทราบมาว่าตลาดบางแห่ง อย่าง บางใหญ่ พรานนก เหลือร้านขายหมูเพียง 1-2 รายเช่นกัน แต่เราไม่ได้ห่วงว่าหมูจะขาดตลาดเพราะโรคระบาดเพราะตั้งแต่ขายมา 40 ปีก็ยังไม่เคยมีเรื่องนี้เกิดขึ้น หมูไม่มีทางขาดตลาดแน่นอน แต่ราคาหมูสูงเกินไป ขายยากทำให้แผงต้องปิด”

สำหรับมาตรการที่ต้องการให้รัฐดูแล ก็อยากให้รับไปดูแลตรงต้นทางทำอย่างไรให้ราคาหมูไม่สูงขึ้นไปอีก แต่กังวลว่า หากใช้มาตรการคุมราคาเช่นเดียวกับที่ผ่านมาคือมารัฐมักกำหนดราคาควบคุมเฉพาะขายปลีก ซึ่งถ้าคุมอีกแผงค้าหมูคงหยุด

“การผลิตหมูจะมีฟาร์มต้นทาง ขายส่งให้พ่อค้ากลาง ชำแหละและขายให้แผงค้าอีกที หากฟาร์มปรับขึ้น กิโลกรัม10 บาท พ่อค้าที่รับมาจะปรับขึ้นอีก 10 บาท รวมเป็น 20 บาท ขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 123 บาท ซึ่งนี้เป็นราคาหมู่ซีกเท่านั้น ทางแผงจะต้องเอามาชำแหละเสียค่าใช้จ่ายอีก ตัวละ 200 บาท เพื่อแยกชิ้นส่วน แบ่งขายตามชิ้นส่วนที่มีราคาแตกต่างกัน ถ้าซื้อหมู 1 ตัว น้ำหนัก 100 กิโลกรัม กำไรมากหรือน้อยขึ้นกับว่า แบ่งออกมาได้เนื้อแดง 30% ถือว่าดี แต่บางทีจะได้น้อยกว่านั้นได้มันหมูสัดส่วนมากกว่า ก็ราคาถูกลง”

รายงานข่าว ระบุว่า ผลกระทบจากราคาหมูเริ่มส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย ที่ใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบ

นางสาวราตรี สังฆพรม เจ้าของร้านคอหมูย่าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เปิดร้านคอหมูย่างมาเป็นเวลา 20 ปี ยังไม่เคยพบเหตุการณ์ที่ต้นทุนหมูปรับสูงขึ้นอย่างนี้มาก่อน ทางร้านก็ได้มีการปรับขึ้นราคาเมนูละ 5 บาท จากชิ้นละ 30 เป็น 35 บาท จาก 40 ก็ขาย 45 บาท เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ เพราะถ้าหยุดกิจการไปก็ไม่รู้ว่าจะไปค้าขายอะไร

นางขนิษฐา สวนส้ม เจ้าของร้านซาลาเปา และขนมจีบ กล่าวว่า ขณะนี้ได้แจ้งปรับขึ้นราคากับลูกค้าซาลาเปาไส้หมู ปรับขึ้นลูกละ 2 บาท จาก 15 บาท เป็น 17 บาท ขณะที่ขนมจีบจากที่เคยขาย 5 ลูก 20 บาท เป็น 7 ลูก 30 บาท เพราะต้นทุนของซาลาเปาและขนมจีบปรับขึ้นเท่าตัว

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นลูกค้าก็ไม่กิน ลูกค้าไม่ได้บ่นว่าแพง แต่เลือกที่จะไม่ซื้อเพราะขนมจีบซาลาเปาไม่ใช่สินค้าจำเป็น จึงอยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลเพราะสินค้าถ้าขึ้นไปแล้วหลังจากนี้ก็ไม่ลงแล้ว ถึงแม้ว่าหมูจะราคาลงก็ตาม”

นางสาววราภรณ์ คงเดช เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง กล่าวว่า ขนาดนี้ทางร้านยังคงราคาที่เมนูละ 50 บาทต่อกล่อง เหตุที่ไม่ได้ปรับขึ้นราคาหลังจากที่ต้นทุนหมูปรับสูงขึ้นเพราะว่าทางร้านบริหารจัดการต้นทุน โดยใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่นมาปรุงเป็นอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ไก่ ปลา จึงสามารถที่จะเฉลี่ยต้นทุนได้ แม้ว่าหมูจะปรับขึ้น 300 บาท แต่ทางร้านก็จะไม่ปรับขึ้นราคา


แผงหมู