“มิตรผล” ฝ่าวิกฤตแม่ปุ๋ยแพง ราคาพุ่ง-หันบุกตลาดสวนปาล์ม-ยาง

“มิตรผล” กางแผนรุกตลาดปุ๋ย ปาล์ม-ยาง ปั๊มยอดขาย 3,500 ล้าน ปี’65 ฝ่าปัจจัยเสี่ยงต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง 3 เท่า หลังเกิดวิกฤต “จีน” ปิดโรงงานปุ๋ย-แหล่งก๊าซแก้มลพิษฉุดซัพพลายวัตถุดิบแม่ปุ๋ยขาดแคลน ไตรมาส 1 สถานการณ์ราคาวัตถุดิบคลี่คลายไม่ต้องปรับราคาปุ๋ยอีก

นายพงศกร ว่องวุฒิไกร ผู้อำนวยการธุรกิจปุ๋ย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ยอดขายให้ได้ 3,500 ล้านบาท จากปี 2564 ที่มียอดขาย 3,000 ล้านบาท ในปริมาณ 230,000 ตัน โดยสัดส่วนหลักมาจากการจำหน่ายปุ๋ยสำหรับชาวไร่อ้อย 60% และการขยายตลาดจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดีมากในขณะนี้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีความต้องการใช้ปุ๋ยภาพรวมของไทยอยู่ที่ประมาณ 5-7 ล้านตัน มีผู้ผลิต 300 ราย ซึ่งเป็นรายใหญ่ 10-15 ราย

“ส่วนแนวโน้มราคาปุ๋ยคงไม่ปรับสูงขึ้นจากไตรมาส 3-4 ปี 2564 แล้ว ตลาดนิ่งคงไม่ลดลง เพราะอย่างที่ทราบในปีที่ผ่านมาวัตถุดิบผลิตปุ๋ยแพงขึ้น 3 เท่าตัว เราใช้แม่ปุ๋ยล้วนไม่ใช่ใช้ฟิลเลอร์ (ดินปั้น) จากปัจจัยต้นทุนทำให้ต้องขยับราคาขึ้นมาจากเฉลี่ยตันละประมาณ 14,000-15,000 บาท ไปอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน ราคาวัตถุดิบขึ้นสามเท่าตัว แต่ราคาปลีกเพิ่มแค่สองเท่า ส่วนปีนี้เท่าที่คุยกับคนในวงการซัพพลายเออร์ ราคาคงยังทรงอยู่ ราคาปุ๋ยมีโอกาสอาจจะสไลด์ลงหลังจากไตรมาส 1 หลังผ่านช่วงเพาะปลูกของเอเชียฝั่งตะวันออกช่วงนี้”

โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาปุ๋ยไม่ลดลง มาจากซัพพลายในตลาดโลกลดลง จาก 2 ปัจจัย คือ นโยบายรักษ์โลกจีน ที่มุ่งสู่ซีโร่เน็ต คาร์บอนฟรี จึงสั่งปิดบริษัทที่ทำปุ๋ยไม่ได้คุณภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กลับไปปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้สอดคล้องกับการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ถ้าปรับไม่ได้คุณก็ต้องปิดไปเลย

และปัจจัยที่สอง คือ การมุ่งสู่พลังงานสีเขียว (go green) ของโลก ลดใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นตัวตั้งต้นของแอมโมเนีย ที่จะนำมาผลิตแม่ปุ๋ยไนโตรเจนและยูเรีย และโพแทสเซียม (P) พอพลังงานน้ำมันหายไป พลังงานถ่านหินหายไป พลังงานสะอาดไม่สามารถเอามาตั้งต้นวัตถุดิบผลิตปุ๋ย ตรงนี้เป็นประเด็นเลยการชอร์ตซัพพลายวัตถุดิบ ในปีที่ผ่านมาจีนระงับการส่งออกแม่ปุ๋ย จึงเหลือแค่แหล่งตะวันออกกลาง รัสเซีย และอเมริกาเหนือ ทำให้ราคาไม่ปรับลดลง

ล่าสุดจีนสั่งควบคุมการส่งออกปุ๋ยที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อเก็บไว้สำหรับใช้ภายในประเทศก่อน ไปจนถึงหลังตรุษจีนจึงจะพิจารณาทบทวนอีกครั้ง นั่นหมายถึงโรงงานมิตรผลในจีนไม่สามารถส่งออกปุ๋ยสำเร็จรูปกลับมาที่ไทยได้ ฉะนั้น หากในปีนี้สถานการณ์การใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น บริษัทต้องวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานในไทย เพื่อสำรองหากมีความต้องการเพิ่มขึ้น แต่ทว่าเท่าที่ประเมินแนวโน้มตลาดปุ๋ยในปีนี้จะไม่ขยายตัวจากปีก่อนด้วยแรงกดดันด้านราคา

“ตลาดปุ๋ยในประเทศปีนี้อาจจะยังไม่โตถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยปัจจัยของราคา รายใหญ่คนที่ทำอุตสาหกรรมเข้าใจก็จะไม่ลดปริมาณการใช้ ส่วนรายย่อยจะไม่เข้าใจแล้วเขาจะลดการใช้ลง สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้จะเห็นว่าชาวไร่ลำบาก แต่ก่อนเขาปลูกอ้อยตันละ 1,000 บาท ซื้อยูเรียได้ 1 กระสอบ แต่ตอนนี้อ้อยตันละ 1,200 บาท ยังซื้อปุ๋ยยูเรียไม่ถึงกระสอบ จึงพยายามลดต้นทุนด้วยการไม่ใส่ปุ๋ย ซึ่งตรงนี้อันตราย

คนที่ทำฟาร์มอุตสาหกรรม จะไม่ลดการใช้ เพราะมีความรู้และความเข้าใจกลไกตลาดโลก แต่รายย่อยถ้าไม่เข้าใจจะลดการใส่ปุ๋ย สิ่งที่เขาคาดหวังก็คือถ้าเขาลดลงแล้วเขาจะได้ผลผลิตเท่าเดิม จึงควรต้องมีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความรู้ เรื่องวิธีการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง แทนที่จะหว่านแล้วให้มันละเหยไปในอากาศ วิธี คือ การขุดดินวางกลบใกล้ราก ซึ่งบริษัทแม่เราสอนการทำพวกนี้มา 10 กว่าเกือบ 20-30 ปีแล้ว”

ในด้านการผลิต ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีโรงงานปุ๋ยอยู่ใน 3 ประเทศ คือ ในไทย มีกำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี โรงงานปุ๋ยสะหวัน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำลังการผลิต 300,000 ตันต่อปี และโรงงานปุ๋ย Guangxi East Asia Saksiam Fertilizer เมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี ประเทศจีน 300,000 ตันต่อปี ตอนนี้ใช้กำลังผลิตยังไม่เต็ม 100% ยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเรามีแผนบริหารจัดการในการจัดหาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยได้

“สำหรับการบริหารจัดการวัตถุดิบแม่ปุ๋ยของมิตรผลปีนี้ เรายังสามารถหาซื้อวัตถุดิบได้ แต่เดิมที่เราซื้อจากผู้ประกอบการในไทย ก็ไปซื้อผ่านต่างประเทศ แม้ว่าแอมโมเนียมซัลเฟตเป็นตัวหลักที่เรานำเข้ามาตรงนี้ เจอมาตรการจีนไปแล้วก็เจ็บอยู่เหมือนกัน แต่ยังมีแหล่งผลิตอื่น ๆ ส่วนในลาวเป็นซัพพลายเออร์เพราะมีแหล่งโพแทสเซียม 3 แหล่ง แต่ไม่ใหญ่มากส่งให้กับจีน ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ส่วนแหล่งวัตถุดิบในไทยนั้น เดิมประเทศไทยเคยมีแผนจะพัฒนาเหมืองโพแทชที่ชัยภูมิมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการต่อ ถ้าเราขายได้คือแหล่งใหญ่เทียบเท่าแคนาดา ซัพพลายประมาณ 300 ล้านตันได้ 300 ปีกว่าจะหมด”