ย้อนรอย 3 ปี ปิดบังโรค ASF ผู้เลี้ยงหมูเสียหาย 2 แสนล้าน

ผ่านมาเกือบ 3 ปีที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะออกมายอมรับเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า ประเทศไทยมีโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever) หรือ ASF ที่กำลังเป็นข่าวดัง

ทุกอย่างดูเหมือนสายเกินแก้ หลังเกิดความล่มสลายในหมู่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ บริษัทขายเวชภัณฑ์ ยา อุปกรณ์สำหรับสัตว์ ฯลฯ

รวมมูลค่าความเสียหายประเมินว่า ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจกลายเป็นหนี้ NPL

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ราคาหมูแพง และกังวลว่าจะแตะถึง 300 บาทนั้น เนื่องมาจากปริมาณหมูหายไปจากระบบเป็นจำนวนมาก คิดจากแม่พันธุ์ทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว จะผลิตลูกหมู หรือ “หมูขุน” ได้ 21-22 ล้านตัว/ปี แต่โรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% ทำให้เหลือแม่หมู 550,000 ตัว และผลิตหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี เท่ากับซัพพลายหมูหายไป 10 ล้านตัว

ย้อนรอย จ.ตาก เกิด ASF ครั้งแรก

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานข่าวเรื่องโรคระบาดเป็นฉบับแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกร 6 ภาค ลงขันตั้งกองทุนเพื่อนำเงินไปซื้อสุกรของผู้เลี้ยงรายย่อยที่ไม่มีระบบป้องกันที่ดีในจังหวัดแนวชายแดนติดกับเมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว ที่กำลังเกิดโรคระบาด แต่เอาไม่อยู่ เพราะผู้เลี้ยงรายย่อยลักลอบนำหมูป่วยออกมาขาย เพราะได้ราคาดีกว่าเงินชดเชยที่เอกชนจะลงขันเข้ามาซื้อ

จนต้องผลักดันผ่านกระทรวงเกษตรฯ ให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 9 เมษายน 2562 ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” แต่งตั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อของบประมาณซื้อหมูจากฟาร์มรายย่อย แต่บทบาทของคณะกรรมการชุดนี้กลับเงียบไป เอกชนจึงลงขันกันเอง 100-200 ล้านบาท แต่ก็ไม่อาจต้านทานได้

พร้อมตรวจสอบพบต้นตอของการระบาดที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีข้อมูลว่า ผู้เลี้ยงหมูที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้โยนทิ้งหมูที่ติดโรค ASF ลงแม่น้ำรวก แล้วฟาร์มหมูตามแนวชายแดนไทยได้สูบน้ำมาใช้เลี้ยงหมู ทำให้เกิดเชื้อปนเปื้อนและระบาดในวงกว้าง

จนมีหลักฐานจากรายงานการประชุมผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ 2562 ครั้งที่ 7 เมื่อ 4 กรกฎาคม 2562 โดยมี สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน ซึ่งสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ รายงานที่ประชุมว่า

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีการเฝ้าระวังดูอาการโรคและวิธีการชำแหละสุกร จำนวน 682,283 ตัว พบและตรวจยืนยันชัดเจนว่า เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร 1 กรณี ที่จังหวัดตาก แต่สุกรที่ตรวจพบมาจากพื้นที่ปศุสัตว์เขต 5 (ครอบคลุมพื้นที่รวม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน) ขณะที่จังหวัดตากอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของปศุสัตว์เขต 6

นั่นคือจุดตั้งต้นสาเหตุการระบาดของโรค ASF ที่กรมปศุสัตว์แจงว่า เป็นโรคเพิร์ส หรือโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) มีอาการคล้าย ASF

เอกชนปิดปากหมูไม่ลงหลุม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมตื่นตัว โดยเฉพาะการลุกลามของโรคในฟาร์มขนาดเล็กตามแนวชายแดน จังหวัดตาก นครพนม มุกดาหาร

แม้กรมปศุสัตว์ประกาศเขตโรคระบาดห้ามเคลื่อนย้าย หากฟาร์มไหนเป็นโรคต้องแจ้งหน่วยงานราชการ เพื่อกำจัดหมูที่ติดโรค และทางการยังไม่ได้ตกลงจ่ายค่าชดเชย ผู้เลี้ยงจึงลักลอบขนย้ายหมูกันทั่วประเทศ เพราะหมู 1 ตัว น้ำหนัก 130 กก. ขายได้ตัวละ 8,000 บาท หากชดเชยจะได้เงินเพียง 75% ของราคาตลาด

เดือนกรกฎาคม 2562 กรมปศุสัตว์ยังรายงานมีหมู 1.4 ล้านตัว หมูขุน 14 ล้านตัว เกษตรกร 196,000 ราย ช่วงนั้นผู้เลี้ยงรายกลาง-รายใหญ่ยังเพิ่มการเลี้ยง โดย “ประชาชาติธุรกิจ” เดือนกันยายน 2562 ลงข่าวอหิวาต์หมูระบาดจ่อเข้าไทย รายใหญ่สวนกระแสเลี้ยงเพิ่ม เพื่อส่งออกหมูวันละ 500-1,000 ตัว ไปยังประเทศกัมพูชา ที่มีโรค ASF ระบาด ทำให้หมูไทยขาดแคลน เพราะได้ราคาดี ขณะที่บริษัทใหญ่ในวงการปศุสัตว์ 2-3 ราย ส่งออกหมูแปรรูปไปยังฮ่องกง ตะวันออกกลาง

ขณะนั้นทุกอย่างดูราบรื่น ไม่เป็นปัญหา ทั้ง ๆ ที่เริ่มมีปัญหาแล้ว

ปริมาณส่งออกหมูพุ่ง

กระทั่งพบข้อมูลการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อสุกรแปรรูป เปรียบเทียบช่วง 5 ปีแล้ว มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีพาดหัวข่าว “หมูไทยพาเหรดขายนอกประเทศ รับอานิสงส์ ASF-ฮ่องกงแห่นำเข้า เฉียด 100%”

ตั้งแต่ปี 2559 ไทยส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นแช่แข็ง 1,125 ตัน มูลค่า 114 ล้านบาท ปี 2560 ส่งออก 1,572 ตัน มูลค่า 154 ล้านบาท ปี 2561 ส่งออก 1,900 ตัน มูลค่า 171.21 ล้านบาท ปี 2562 ส่งออก 6,329 ตัน มูลค่า 733.40 ล้านบาท ปี 2563 เริ่มลดลงเพราะหมูน้อยลง และต่างประเทศเริ่มรู้ว่า ไทยมี ASF แต่ระบุเป็นการปนเปื้อนจากหมูที่ลักลอบเข้ามา มีส่งออก 1,107 ตัน มูลค่า 155.74 ล้านบาท

ขณะที่เนื้อสุกรแปรรูป ปี 2559 ส่งออก 12,178 ตัน มูลค่า 2,791 ล้านบาท ปี 2560 ส่งออก 10,930 ตัน มูลค่า 2,378 ล้านบาท ปี 2561 ส่งออก 10,684 ตัน มูลค่า 2,277.08 ล้านบาท ปี 2562 ส่งออก 10,022 ตัน มูลค่า 2,300.21 ล้านบาท ปี 2563 ส่งออก 426 ตัน มูลค่า 100.427 ล้านบาท

จะเห็นว่าปริมาณการส่งออกน้อย แต่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพราะแต่ละประเทศมีโรค ASF ทำให้หมูขาดแคลน ซึ่งประเทศจีนเคยราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 300 บาท

ปัญหานี้ใครได้ใครเสีย ?

การลักลอบเคลื่อนย้ายหมูเป็นโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรคกระจายค่อนประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” เสนอข่าวเดือนมีนาคม 2564 โรคระบาดสุกรเสี่ยง 50 จังหวัด ฟาร์มหนีตายเทขายหมูขุน โดยเทขายหมูติดโรคราคาถูก มากสุดเดือนกันยายน 2564 แม่พันธุ์สุกรน้ำหนัก 250 กก. ขายตัวละ 10,000 บาท เหลือขาย 10 บาทต่อ กก. หมูขุนจาก 80 บาทต่อ กก. เหลือ 25-40 บาทต่อ กก. ดึงให้ราคาหมูดีรูดลงตามมา

เดือนธันวาคม 2564 ราชบุรีเมืองหลวงหมูพ่าย ASF ผู้เลี้ยงสูญ 2 แสนล้าน-รัฐเพิ่งตื่นวิจัยวัคซีน ซึ่ง นายพิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดราชบุรี ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ได้รับผลกระทบหนักมากจากโรคระบาด ASF ปัจจุบันราชบุรีมีคนที่เลี้ยงสุกร 1,200 ราย มีแม่พันธุ์หมู 220,000-250,000 แม่ ได้รับผลกระทบแล้ว 40%

ระหว่างช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คณะสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัย ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ยังไม่มีสถาบันใดออกมาส่งสัญญาณ แต่แนะนำให้ดูแลฟาร์มที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด ทั้งความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุดในฟาร์ม ควบคุมการกระจายของโรคอย่างโปร่งใส และกำหนดเขตปลอดโรค หรือ ASF free compartment เพื่อให้สามารถส่งออกไปยุโรปได้

เมื่อวงการเลี้ยงหมูเกิดการวิพากษ์ถึงการปิดข่าวของทางการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ปัญหานี้ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์

เพราะวันนี้หมูตายไปค่อนประเทศแล้ว ผู้เลี้ยงรายย่อย 2 แสนรายเสียหายหนัก แทบไม่เหลือหมูในมือ ผู้เลี้ยงรายกลางได้รับผลกระทบ 50% ส่วนผู้เลี้ยงรายใหญ่ได้รับผลกระทบ 30% ทำให้ปริมาณหมูในระบบลดลง ราคาหมูจึงแพงขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยารักษา

ส่วนการกลับมาเลี้ยงใหม่ หากยังไม่มีวัคซีน ฟาร์มระบบเปิดก็ยังเลี้ยงไม่ได้ ต้องเป็นฟาร์มระบบปิดเท่านั้น ซึ่งมีระบบป้องกันที่เรียกว่า “ระบบไบโอชีวภาพ”

โดยกรมปศุสัตว์ระบุสัดส่วนการตลาดปริมาณหมูขุนของ 10 บริษัทในไทย ได้แก่ 1.CP 28.27% 2.เบทาโกร 15.58% 3.ไทยฟู้ดส์ 3.69% 4.VCF (ราชบุรี) 3.53% 5.SPM (ราชบุรี) 2.24% 6.VPF(เชียงใหม่) 1.97% 7.KN (ราชบุรี) 1.76% 8.PAKT (ปากท่อ ราชบุรี) 1.49% 9.พนัสโพลทรี (ชลบุรี) 1.02% 10.RMC (บุรีรัมย์) 0.59% อื่น ๆ 39.87%

ซึ่งนโยบายที่จะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเริ่มการเลี้ยงใหม่ก็น่าจับตา