ชาวนาอ่วม พิษแล้ง-ต้นทุนพุ่ง

สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกยังทรงตัว ไม่น่าปรับตัวขึ้นสูงมากจากราคาปัจจุบัน โดยข้าวขาว ตันละ 7,000-8,000 บาท ข้าวหอมมะลิ ตันละ 10,000 บาท และข้าวหอมปทุม ตันละ 9,000-10,000 บาท ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวสาร เช่น ข้าวขาว 10-15 บาทต่อ กก. (ตันละ 10,000-15,000 บาท) ข้าวหอมมะลิ 26.30 บาทต่อ กก. (ตันละ 26,300) ข้าวเหนียว 21-22 บาทต่อ กก. (ตันละ 21,000-22,000 บาท)

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์ราคาข้าวสารอาจขยับราคาขึ้นบ้าง อย่างเช่น ข้าวเหนียว แต่มั่นใจว่าไม่กระทบต่อผู้บริโภคต้องซื้อข้าวแพงอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์การปลูกข้าวนาปรังปี 2565 รอบแรกที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 นี้ ประเมินว่าผลผลิตจะมากกว่าปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกไปแล้ว ทางสมาคมและภาครัฐได้ประสานขอความร่วมมือชาวนาให้งดหรือชะลอการปลูกข้าวนาปรังรอบที่สอง ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ออกไปก่อน เนื่องจากกังวลเรื่องปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ จึงขอให้ชาวนานั้นหันไปปลูกที่ใช้น้ำน้อยแทน

พร้อมกันนี้ สมาคมได้ประสานไปยังภาครัฐในการดำเนินการขุดบ่อ เจาะบาดาลเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำไว้ใช้กับการเพาะปลูกพืชเกษตร ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังมีโครงการอีก 36 โครงการ ใน 16-17 จังหวัดที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการ ส่วนเรื่องการเก็บค่าน้ำ 25 บาทต่อไร่ สำหรับผู้ที่ใช้น้ำเขตชลประทาน ตาม พ.ร.บ.ชลประทานหลวง พ.ศ. … จากที่สอบถามชาวนาต่างไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะการเพาะปลูกข้าวนั้นใช้น้ำมากอาจต้องเสียค่าน้ำมาก และหากจำเป็นต้องเก็บค่าน้ำก็ควรมีน้ำให้ชาวนาใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปีสามารถทำได้หรือไม่


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของชาวนาในปีนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องน้ำ แต่ชาวนายังประสบปัญหา “ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น” โดยเฉพาะราคาปุ๋ย เช่น ราคาปุ๋ย 1,050 บาทต่อ 50 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรียก็ปรับขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดีเซลก็ปรับสูงขึ้น จึงต้องการให้รัฐช่วยตรึงราคา 25 บาทต่อลิตร