บูรณาการ 6 ด้านอุตสาหกรรม สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาของหนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 45 หัวข้อ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” ในต้นสัปดาห์นี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ

แต่ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกดี ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คาดการณ์ “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม” ในปี 2565 จะยังคงขยายตัว 4.0-5.0% เช่นเดียวกับ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม” ที่จะยังคงขยายตัว 2.5-3.5% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“มีอุตสาหกรรมเด่นที่เติบโต เช่น อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมคลังสินค้า ขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์และที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์” นายสุริยะกล่าว

และเพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม แนวทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญก็คือ การส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ (local economy) ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุนการใช้งบประมาณของรัฐในการจัดซื้อสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง พัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563

หนุนจัดซื้อในประเทศ

สำหรับ Made in Thailand (MiT) นั้นจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้นผ่านการหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของภาคอุตสาหกรรม ในการจัดซื้อพัสดุที่ได้รับการรับรอง รวมถึงการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจัดซื้อในภาคเอกชน

โดยพัสดุที่จัดทำขึ้นหรือจำหน่ายโดยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า Thai SME-GP ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 และกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเข้าสู่ระบบการรับรอง Made in Thailand รวมถึงเตรียมความพร้อมและยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน เข้าสู่การรับรอง Made in Thailand

ยกระดับอุตสาหกรรมชุมชน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย “อุตสาหกรรมชุมชน” โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ “หมู่บ้าน CIV” ภายใต้แนวคิดหลักคือ การสร้างหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชน มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของชุมชน

เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วจำนวนกว่า 250 หมู่บ้านทั่วประเทศ และกำลังต่อยอดการพัฒนาการสร้างเส้นทางท่องเที่ยว (routing) ที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล (season) ด้วย

DIProm CARE

ส่วนการยกระดับกระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้นโยบาย “DIProm CARE” หรือ “ดีพร้อม แคร์” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก และเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนศักยภาพประเทศ จะมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่เติบโตบนฐานนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดลอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีบทบาทสำคัญภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นอุตสาหกรรมที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต ได้แก่

อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปเกษตร, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ (digital services and software industry) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะมีบทบาทในการผลักดันศักยภาพของประเทศไทย ด้วยการสร้างมูลค่า (value creation) ให้แก่ธุรกิจและบริการต่าง ๆ ผ่านการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคธุรกิจบริการ

นอกจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีห่วงโซ่การผลิตในประเทศและมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ เช่น หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ พัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ลดปัญหาอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและการประกอบการ และการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

บูรณาการ 6 ด้าน

นายสุริยะยังกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

3) การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 4) การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG

5) การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม และ 6) การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว

การเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศไทยตามแนวทางข้างต้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง และมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งในการเผชิญกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืน