บุหรี่ “ไทย-เทศ” ระเบิดศึก เปิดเกม “ราคา” แย่งมาร์เก็ตแชร์

ยังอยู่ในภาวะ “ฝุ่นตลบ” สำหรับตลาดบุหรี่ที่ว่ากันว่ามีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท ผลพวงมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กฎหมายฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

โดยที่กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดอัตราเก็บภาษียาสูบ (แบบผสม) ทั้งอัตรา “ตามมูลค่า” และ “ตามปริมาณ” โดยแบ่งเป็น 2 เทียร์ ในการจัดเก็บตามมูลค่า คือ 1.บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 60 บาท จะถูกเก็บภาษีตามมูลค่าที่ 20% และเสียภาษีตามปริมาณที่ 1.20 บาท/มวน และ 2.บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 60 บาท จะถูกเก็บภาษีตามมูลค่าที่ 20%

การแบ่ง 2 เทียร์นี้จะใช้เป็นเวลา 2 ปี (16 ก.ย. 2560-30 ก.ย. 2562) เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป จะเก็บเทียร์เดียวคือ ผู้ประกอบการทุกรายจะถูกเก็บภาษีตามมูลค่าที่ 20% ส่วนการจัดเก็บตามปริมาณ กำหนดอัตราเดียวกันที่ 1.20 บาท/มวน เพื่อช่วยลดปัญหา “การบริโภคบุหรี่ราคาถูก”นี่เป็นการปรับฐานภาษีบุหรี่ครั้งสำคัญ

ในทางปฏิบัติบุหรี่ที่มีระดับต่ำกว่า 60 บาท จะเสียภาษีเพิ่มซองละ 4-15 บาท ขณะที่บุหรี่ที่มีราคาเกิน 60 บาท ต้องเสียภาษีเพิ่ม 2-14 บาท และเมื่อคิดคำนวณเบ็ดเสร็จแล้ว บุหรี่จะมีราคาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 12-51 บาท/ซอง

หลังภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ โรงงานยาสูบเจ้าตลาดเริ่มประกาศ “ปรับราคา” เป็นการนำร่องเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยการ “ขึ้นราคา” บุหรี่เกือบทุกยี่ห้อ ทั้งกรองทิพย์ กรุงทอง สามิต สายฝน ที่ขยับราคาขึ้นไปเฉียด ๆ ซองละ 100 บาท

ยกเว้น “วันเดอร์” ที่ลดราคาจากซองละ 63 บาท เหลือ 60 บาท เพื่อแข่งกับบุหรี่ต่างประเทศ…ว่ากันว่า นี่เป็นการจุดชนวนที่ทำให้ค่ายบุหรี่ต่างประเทศต้องลดราคาลงมาสู้

ขณะที่ “ฟิลิป มอร์ริส” ยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 ของตลาด ตัดสินใจลดราคา L&M ยี่ห้อยอดนิยม เหลือเพียง 60 บาท จากที่เดิมขาย 72 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ส่วนยี่ห้อที่มีระดับราคากลางและพรีเมี่ยม ก็มีการปรับราคาขึ้นไปตามภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ “เจแปน โทแบ็กโค” ที่ลดราคา “คาเมล” เหลือ 60 บาท จาก 98 บาท เช่นเดียวกับ “วินสตัน คอมแพ็กต์” ที่ขาย 60 บาท จากเดิม 70 บาท

เวลาผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์เศษ ๆ โรงงานยาสูบก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศราคาขายปลีกครั้งใหม่ โดยครั้งนี้ขยับราคา “วันเดอร์” จาก 60 บาท กลับขึ้นไปเป็น 90 บาท เนื่องจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ยาสูบเห็นว่า การลดราคาขายลงมาเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ส่วนยี่ห้ออื่น ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการใช้โครงสร้างภาษีใหม่ สะท้อนผ่านการจัดเก็บรายได้ภาษียาสูบในเดือน ต.ค. 2560 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 และเป็นเดือนแรก หลังใช้โครงสร้างภาษีใหม่ พบว่า ตัวเลข “ลดลง” อย่างน่าใจหาย โดยต่ำกว่าประมาณการไปถึง 47.6% หรือ 2,017 ล้านบาท เนื่องจากจัดเก็บได้แค่ 2,218 ล้านบาท จากประมาณการที่ตั้งไว้ 4,235 ล้านบาท แถมยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วถึง 2,792 ล้านบาท หรือ 55.7%

ขณะที่ “ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์” ผู้อำนวยการยาสูบ ระบุว่า หลังจากใช้ภาษียาสูบใหม่แค่เพียง 1 เดือน ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของโรงงานยาสูบ ลดลงเหลือ 65.92% จากที่มีอยู่เกือบ 80% ขณะที่บุหรี่ต่างประเทศมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มเป็น 32.53%

เนื่องจากยี่ห้อ L&M, วินสตัน และคาเมล ปรับลดราคาขายลงมาเพียง 60 บาท เพื่อให้เสียภาษีแค่ 20% ประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบอาจขาดทุน 1,575 ล้านบาท และทำให้ไม่มีเงินนำส่งรัฐ นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบจาก “บุหรี่เถื่อน” ที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดนระลอกแล้วระลอกเล่า

ที่ผ่านมา โรงงานยาสูบได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ให้ทบทวนการใช้กฎกระทรวงดังกล่าว โดยเห็นว่าควร “เซตซีโร่” แล้วกลับไปพิจารณาการกำหนด “เทียร์” ใหม่ ซึ่งก่อน พ.ร.บ.ใหม่บังคับใช้ โรงงานยาสูบเคยเสนอให้แบ่งเก็บเป็น 3 เทียร์ คือ บุหรี่ราคาต่ำกว่า 50 บาท, บุหรี่ราคา 50-100 บาท และบุหรี่ราคา 100 บาทขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันบุหรี่ในตลาดมี 3 กลุ่ม และโครงสร้างภาษีควรจะทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างกลุ่ม ไม่ใช่ข้ามกลุ่มอย่างในขณะนี้

เมื่อถามว่า เหตุใดโรงงานยาสูบไม่ปรับกลยุทธ์เข้าสู้ ผู้อำนวยการยาสูบ อธิบายว่า “เหมือนมวยคนละรุ่น” เพราะ “พลังของแบรนด์” สู้ต่างชาติไม่ได้ แถมปัจจุบันมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หลังจากก่อนหน้านี้สหภาพฯยาสูบเคยบุกไปกระทรวงการคลังมาแล้วรอบหนึ่ง เดินสายไปหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ ในประเด็น “ทุ่มตลาด” ของบุหรี่ต่างประเทศ

แต่ “นายวันชัย วราวิทย์” รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เฉลยว่า การลดราคาของบุหรี่ต่างประเทศดังกล่าวไม่เข้าข่ายการทุ่มตลาด

ขณะ “วราภรณ์ นะมาตร์” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย ก็ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว โดยระบุว่า หลังการปรับโครงสร้างภาษี ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานจับบุหรี่เถื่อนแล้วอย่างน้อย 43 ล้านมวน สูญเสียรายได้ภาษีแล้ว 76 ล้านบาท

ส่วนผู้ประกอบการต่างประเทศ “สมาคมยูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์” (EABC) ที่ออกมาแสดงความกังวลกับกระแสข่าว ที่ว่ากระทรวงการคลังอาจจะพิจารณา “ระงับ” หรือ “ยกเลิก” โครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่ใช้อยู่ขณะนี้ พร้อมทั้งแนะรัฐบาลไทยยึดมั่นหลักการไม่เลือกปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO)

ขณะที่ “นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง กล่าวว่า กำลังนัดหารือกับกรมสรรพสามิต ซึ่งรายละเอียดยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

อย่างไรก็ดี รมช.คลังยืนยันว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ให้ได้ข้อสรุปออกมาอย่าง “ถูกต้อง” และ “ถูกกฎหมาย” แน่นอน