กกพ.เร่งปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน คาดประกาศใช้กลางปี

ค่าไฟ

กกพ.เร่งปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน เปิดฟังความคิดเห็นประชาชนเดือนหน้า คาดประกาศใช้กลางปี หวังสะท้อนต้นทุนค่าไฟประชาชน ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมวางเป้าหมายงานปี 2565 ดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ธุรกิจต่อเนื่อง EV Charging Station

วันที่ 21 มีนาคม 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกฯ เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ ซึ่งอาจจะมีการปรับค่าไฟฟ้าฐานจากปัจจุบันอยู่ที่ 3.76 บาท/หน่วย เนื่องจากเป็นรอบที่ต้องมีการปรับประจำอยู่แล้ว 3-5 ปีต่อครั้ง

และค่าไฟฟ้าฐานปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้พลังงานมากขึ้น จึงต้องมีการพิจารณาใหม่ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนหน้าจะมีการประกาศเพื่อออกมารับฟังความคิดเห็น และจะสามารถกำหนดใช้ได้ภายในกลางปี 2565 นี้

คมกฤช ตันตระวาณิชย์

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับจากหลายครั้งก็มีการขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟ รวมถึงการใช้เชื้อเพลิง แต่ครั้งล่าสุดนี้ ยอมรับว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม หรือมีมิเตอร์ไฟสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดใหญ่ หรือ TOU เนื่องจากจะมีการเกลี่ยอัตราเรียกเก็บไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟสูง (พีก) และนอกช่วงเวลาดังกล่าว (ออฟ-พีก) ใหม่ ให้สะท้อนการใช้งานจริง แต่ยืนยันว่าสำหรับผู้ใช้ไฟบ้านจะไม่ได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแน่นอน

นอกจากนี้ กกพ.ยังได้มีการติดตามราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เนื่องจากปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดจร (LNG spot) ซึ่งอาจจะกระทบมายังราคาค่าไฟแน่นอน เนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศไทยเปิดการนำเข้าแอลเอ็นจีเสรีช้าเกินไป ปัจจุบันจึงมีสัญญาระยะยาวน้อย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บ อาทิ คลังก็มีไม่เพียงพอ ปัจจุบันจึงต้องใช้แบบสปอตเข้ามาช่วย ซึ่งถ้าเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2562 เชื่อว่าปัจจุบันก็จะมีราคาก๊าซที่ลงตัว ขณะที่ปัจจุบันนั้นหลายเจ้าที่ได้สิทธินำเข้าเสรี (ชิปเปอร์) ยังกังวลราคาที่สูง

“ล่าสุดบริษัท บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จะเร่งนำเข้าแอลเอ็นจีมานั้น กกพ. ก็ต้องการให้เอกชนทุกค่ายที่ได้รับสิทธิรีบนำเข้ามาโดยเร็ว แม้ว่าจะนำไปใช้กับโครงการของตัวเองก็ตาม แต่ก็เป็นการลดภาระของระบบที่จะไม่ต้องใช้จากที่นำเข้าของส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของอีกหลายเจ้า หากเอกชนสามารถนำเข้ามาเองได้ส่วนกลางก็ไม่จำเป็นต้องดูแล และอาจจะทำให้ราคาต้นทุนพลังงานจากส่วนกลางนั้นถูกลงด้วย ซึ่งถือว่าเป็นผลลัพธ์ทางอ้อม”

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในช่วงต่อไป ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน สะท้อนการใช้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟจากเริ่มต้นที่ 8% ในช่วงปี 54 จนถึงปี 64 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 33% และปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% แล้ว จึงทำให้แนวโน้มค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่จะต้องตรึงหรือลดค่าเอฟทีนั้น จำเป็นต้องจะมีคนเข้ามาแบกรับต้นทุนตรงนี้ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไฟไปที่การรับซื้อจากโครงการพลังงานของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นก็มองว่าเป็นผลดี เนื่องจากเป็นการผลิตไฟที่ต้นทุนราคาคงที่

สำหรับแผนงาน ปี 2565 กกพ.วางเป้าหมาย ขับเคลื่อนงานกำกับ ดูแลภาคพลังงาน ด้วยการ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานงานกำกับ ดูแลกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องรองรับแนวโน้ม การเพิ่ม การแข่งขัน ในภาคพลังงาน โดยจะทยอยเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในธุรกิจพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเปิดเสรี ภาคพลังงานไทยในอนาคต

“กกพ.ต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และกระแสพลังงานสีเขียว (Go Green Energy) ได้แก่การสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจต่อเนื่อง ได้แก่ สถานบริการประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ซึ่งได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ โดยการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์และยกเวันค่า Demand Charge ภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า มีความสำคัญเป็นลำดับรอง เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมตามแนวทางของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการส่งเสริม EV Charging Station”

โดยที่ผ่านมา ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังร่วมกันจัดทำมาตรฐานการติดตั้ง ทางไฟฟ้าสำหรับจุดจ่ายไฟยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัย อาคารชุด อาคารสำนักงาน และสำหรับประเภทสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นอกจากนี้ หน่วยงานการไฟฟ้าได้ดำเนินการออกมาตรฐาน และความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน มาตรฐานของอุปกรณ์ ที่ใช้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ารวมทั้งข้อกำหนด การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging Station ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน (Energy Transition)

รวมทั้งมุ่งสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิง ฟอสซิลนำเข้าให้สอดรับกับกระแสการพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว อาทิ การพัฒนาระบบ การกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ทดแทน (RE) และการส่งเสริมผู้ใช้ไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumerization)

นายคมกฤชกล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทาง ผ่านโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ภายในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งในการเปิดรับสมัครครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทดสอบแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมที่รองรับการซื้อขายพลังงานทดแทนร่วมกับกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนโยบายการกำกับ ดูแล กิจการพลังงานของ กกพ. ที่มุ่งเน้นการกำกับเชิงรุก แทนการกำกับดูแลตามหลังซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง


พร้อมกันนี้ในด้านมิติทางสังคม และการคุ้มครองผู้จะมุ่ง ยกระดับ และสร้างความเข้มข้นกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การศึกษา เพื่อปรับปรุงงานคุ้มครองผู้ใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ผ่านคำประกาศสิทธิผู้ใช้บริหารไฟฟ้า เพื่อทราบถึงสิทธิและข้อปฏิบัติในการใช้บริการไฟฟ้า อันจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการไฟฟ้าให้ได้รับความเป็นธรรม อาทิ สิทธิการเข้าถึง ข้อมูลการใช้บริการไฟฟ้า สิทธิการได้รับบริการตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการไฟฟ้า สิทธิการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการไฟฟ้า