ค่าไฟแพง ต้นเหตุจากการสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น

ค่าไฟแพงเพราะอะไร

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ การสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น – การซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กในราคาสูง เป็นต้นเหตุ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จี้รัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ พร้อมเสนอ รัฐบาลควบคุม – กำกับค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชน

วันที่ 19 มีนาคม 2565 นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Float Time) หรือ ค่าเอฟที (ค่า FT) ในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจากเดิม 3.76 บาทต่อหน่วย เป็น 4 บาทต่อหน่วย

โดยอ้างผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน และความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี : LNG) นั้น กำลังสร้างความวิตกกังวลให้ภาระค่าครองชีพประชาชน

แต่ตนมองว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นเพราะปัญหาการวางแผนการการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 40 – 60 ซึ่งภาระส่วนนี้จะถูกแปลงออกมาเป็นค่า FT และถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย

“เมื่อมีการตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศมากเกินไปจนทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินความต้องการ ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ หรือโควิด19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาพรวมในประเทศลดน้อยลง ขณะที่ยังมีโรงไฟฟ้าบางส่วนไม่ได้เดินหน้าผลิตไฟฟ้า แต่รัฐก็ยังคงต้องจ่าย ค่าความพร้อมจ่าย’ตามสัญญา จึงทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น”

อีกสาเหตุ คือ การที่กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เลือกสนับสนุนและซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กแทนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินหน้าผลิตไฟฟ้า ทั้ง ๆ ที่การซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กนั้นมีราคาสูงถึง 4 บาท และยังมีปริมาณการรับซื้อที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อีกด้วยนั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่า FT
สูง

นายอิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึงประมาณร้อยละ 40 – 50 เมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีราคาสูงมากมาเป็นเชื้อเพลิง ย่อมทำให้อัตราการซื้อไฟฟ้าสูงขึ้นและค่า FT ขยับสูงตาม ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้านี้เช่นกัน

“จากระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยที่เป็นระบบผู้ขายผูกขาดแต่เพียงรายเดียว คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่าง ๆ จัดสรรและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จนมาถึงบ้านเรือนประชาชน โดยส่วนตัวมองว่า ประชาชนไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาได้เลย”

พร้อมกันนี้ เสนอว่า สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ก็คือ การนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามา ประชาชนสามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้บริโภคหรือผู้ซื้อไฟฟ้าที่ไม่มีอำนาจต่อรอง มาเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เนื่องจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ใช้พลังงานในกลุ่มฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบันระบบการผลิตโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) สามารถนำมาทำเป็นโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ แต่ระบบไม่เอื้อ ไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้มากพอ เพราะรัฐมีการกำหนดเพดานการรับซื้อโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศ เพียงปีละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เท่านั้น มากไปกว่านี้ อัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคา คือ 2.20 บาทต่อหน่วย เท่านั้น ขณะที่ตอนนี้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วยแล้ว จะเห็นว่าประชาชนอยู่ในภาวะที่ขาดทุน

ดังนั้น รัฐบาลควรมีการปรับเพิ่มอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าที่ขายให้ประชาชน หรือ ไม่ควรต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานที่ กฟผ. ขายส่งให้กับประชาชน ประมาณ 2.50 – 3.00 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ โซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐบาลรับซื้อยังมีการกำหนดสัญญาไว้เพียง 10 ปีเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ซึ่งยังไม่สร้างแรงจูงใจที่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์ เนื่องจากระยะเวลารับซื้อสั้นกว่าอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์

รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องจัดหาสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้ ดังนั้น รัฐบาลควรกลับมาควบคุมและกำกับราคาอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน และ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

โดย 1) กำหนดเพดานรับซื้อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน และ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การเปิดเพดานราคาแบบไม่มีการควบคุมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และ 2) ชะลอ หรือ ยุติ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีราคาเกินกว่าค่าไฟฟ้าฐานของระบบขายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ราคา 2.57 สตางค์ต่อหน่วย และควรมีการเจรจาเพิ่มเติมถึงการสร้างเพดานราคาที่รัฐจะรับซื้อได้ รวมทั้งรัฐต้องใช้อำนาจเป็นผู้ซื้อแต่เพียงรายเดียวในการต่อรองกับผู้ผลิตเอกชนด้วย


“รัฐบาลควรมีเพดานรับซื้อ ไม่ใช่ปล่อยให้ค่าไฟฟ้าไหลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเอกชนอยากเพิ่มเป็น 4 บาท รัฐก็ยอมให้เพิ่ม ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้นในบทบาทการกำกับดูแล สุดท้ายจะทำให้ค่าไฟฟ้าของทั้งประเทศโดยรวมของบ้านเราไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นได้ หากประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าเรา การลงทุนจากแหล่งเงินทุนภายนอกอาจจะไม่มาลงทุนที่ไทย เพราะเห็นว่าค่าไฟฟ้าบ้านเราแพง” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว