ค่า FT คืออะไร มีผลอย่างไรต่อค่าไฟ

ค่าไฟ

รู้จัก “ค่าเอฟที” ค่าไฟฟ้าผันแปร มีผลต่อการปรับขึ้น-ลง ของอัตราค่าไฟฟ้า ล่าสุด พุ่งทะลุ 4 บาทต่อหน่วย จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) โดยค่าดังกล่าว จะผกผันตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การปรับเรียกเก็บค่าไฟฟ้าล่าสุด ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ มีปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านไปรู้จักกับค่าเอฟที ที่หากมีการขยับขึ้นหรือลง ก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นหรือลดลงไปในทางเดียวกันด้วย

ค่าเอฟที คืออะไร

ค่าเอฟที (FT) ย่อมาจาก Float time หรือค่าไฟฟ้าผันแปร มีความหมาย คือ การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

เนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าเอฟที ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้นที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถนำไปคำนวณในสูตรค่าเอฟที

ค่าเอฟที ปรับขึ้น-ลง เมื่อไร

การปรับอัตราค่าเอฟที จะปรับทุก 4 เดือน หรือ 3 ครั้งต่อปี เพื่อให้เกิดการสะท้อนต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงจากที่คำนวณไว้ในค่าไฟฐาน ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ

ปรับค่าไฟ มีปัจจัยอะไรอีกบ้าง

นอกจากค่าเอฟทีแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีผลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าในแต่ละครั้ง ได้แก่ “ค่าไฟฟ้าฐาน”, “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” และ “ค่าบริการ” โดยแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียด ดังนี้

ค่าไฟฟ้าฐาน คืออะไร 

ค่าไฟฟ้าฐาน คือ ค่าการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยวิธีการคำนวณก็จะแบ่งตามประเภทผู้ใช้งาน ได้แก่

  • ประเภทที่ 1 บ้านที่อยู่อาศัย
  • ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
  • ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
  • ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
  • ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
  • ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
  • ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
  • ประเภทที่ 8 ไฟฟ้าชั่วคราว

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร 

ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) โดยเป็นการเรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด

ค่าบริการ คืออะไร 

สำหรับค่าบริการอื่น ๆ คือ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เช่น การจดหน่วย การจัดพิมพ์ จัดส่งบิลค่าไฟฟ้า และการบริการผู้ใช้ไฟฟ้า

เปิดเหตุผลปรับค่าเอฟที พ.ค.-ส.ค. 65

1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 เท่ากับประมาณ 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค.-เม.ย. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 55.11 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 19.46

และลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.32 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 8.08 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 2.58 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.19% และอื่น ๆ อีก ร้อยละ 6.25

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือนมกราคม-เมษายน 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณการในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่น ๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1-31 ม.ค. 65) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

คำนวณค่าไฟได้ที่ไหน

ค่าใช้ไฟฟ้า สามารถคำนวณได้ผ่านช่องทาง ดังนี้