กฟผ.แบกรับต้นทุน 3.89 หมื่นล้านบาท หลังประกาศขึ้นค่าไฟ 4 บาท

กฟผ.แบกรับต้นทุน 3.89 หมื่นล้านบาท หลัง กกพ.เคาะปรับขึ้นค่าเอฟที งวด พ.ค.- ส.ค. 65 ที่ 23.38 สตางค์/หน่วย แตะ 4 บาท/หน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 17 มีนาคม 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกสูง ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ที่ประชุม กกพ.จึงมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)

สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.–ส.ค. 2565 ที่อัตรา 24.77 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บเพิ่ม 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาทต่อหน่วย ทำให้ประชาชนต้องจ่ายจริง 4.00 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.82% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะมีแผนลดต้นทุนทุกด้านส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อาจต้องช่วยรับภาระ 3.89 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้เป็นเพียวสถานการณ์ชั่วคราว อนาคตหากต้นทุนเชื้อเพลิงถูกลงจะทยอยคืนค่าเอฟทีคืน กฟผ.ต่อไป

ทั้งนี้หากปล่อยให้ขึ้นแบบไม่มีการคำนวณจะส่งผลให้ค่าเอฟทีรอบใหม่สูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 1.29 บาทต่อหน่วย และหาก กกพ.นำอัตราดังกล่าวมาเกลี่ยแบบขั้นบันได หากพิจารณาปรับขึ้นแบบขั้นบันได 3 รอบ(พ.ค. 2565 – เม.ย. 2566) อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีงวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย

Advertisment

“กฟผ.ก็มีการบริหารจัดการไปส่วนหนึ่งด้วยการขออนุมัติเงินกู้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว แต่เราเองก็ไม่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกภาระเกินไปก็กำลังมองหาผู้ประกอบการอื่น ๆ มาช่วยเช่น บมจ.ปตท.จะลดค่าก๊าซได้หรือไม่ เป็นต้น

โดยค่าเอฟทีงวดใหม่นี้ สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วยวันนี้ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2565 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ระหว่างนี้อยากให้คนไทยร่วมกันประหยัดพลังงานเพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้”

ขณะเดียวกัน หากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังมีราคาเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู คาดว่าค่าไฟจะยืนเหนือระดับ 4 บาทต่อหน่วยต่อไป เพราะการผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จากอดีตพึ่งพาก๊าซในอ่าวไทยแต่ปัจจุบันลดลง จึงพึ่งพา LNG มากขึ้น

Advertisment

ดังนั้น ต้องอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทใดในอนาคต อาทิ พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ หรือหากใช้ LNG อาจใช้วิธีเดียวกับประเทศญี่ปุ่นคือซื้อช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตราคาจะสามารถบริหารจัดการได้ สำหรับความคืบหน้านโยบายตรึงค่าไฟสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นเรื่องนโยบายคาดว่ารัฐบาลกำลังหางบประมาณสนับสนุนเช่นกัน

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤตราคาพลังงานขาขึ้น สำนักงาน กกพ.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟ ร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 4 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ

ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน, ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าครองชีพสำหรับตัวท่านเอง และยังจะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันลดภาระโดยรวมให้กับประเทศชาติอีกทาง