ย้อนรอยมหกรรมการโกง “สหกรณ์” แผลอักเสบที่รักษาไม่หาย

กระทรวงเกษตร

กลายเป็นประเด็นร้อนกรณีที่มีข่าวเจ้าหน้าที่สหกรณ์ออมทรัพย์ยักยอกทรัพย์ของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 65 รวมกว่า 491 ล้านบาท ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความอ่อนแอของกฎหมาย มีช่องโหว่กับบทบาทหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมาย ผู้บริหารสหกรณ์ที่จงใจทุจริต ขาดความโปร่งใส เหตุใดปัญหาเดิมจึงวนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ย้อนรอย 9 ปี ทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจข้อมูลพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกและยังเป็นเหมือน “เเผลอักเสบที่รักษาไม่หาย” เพราะหากย้อนไปช่วงปี 2556 ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 ปีที่เกิดเหตุการณ์ฉ้อโกงสหกรณ์ครั้งใหญ่นั่นคือ “สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น” ที่พัวพันการยักยอกทรัพย์กว่า 10,000 ล้านบาท (โดยนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหาร ประธานสหกรณ์) เกิดจากการแย่งชิงอำนาจบริหารภายใน ส่งผลให้สหกรณ์เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องลามเป็นลูกโซ่ จนสมาชิกสหกรณ์จำนวนมากไม่สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของตัวเองได้

ทำให้เจ้าหนี้สมาชิกจากสหกรณ์กว่า 70 แห่ง ได้มีการร้องทุกข์กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ขอให้รับคดี ดำเนินคดี และเรียกชดใช้เงินจำนวนกว่า 3,800 ล้านบาท พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเพื่อการชำระหนี้ที่คงค้างให้แก่สมาชิกและเจ้าหนี้ รวมถึงคืนเงินสมาชิกสหกรณ์กว่าแสนรายที่เป็นเจ้าหนี้ แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ครบตามที่กล่าวไว้

รวมไปถึงก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2562 มีการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ) ที่อดีตกรรมการสหกรณ์กับพวกร่วมกันทุจริตนำเงินของสหกรณ์ไปซื้อที่ดินและทรัพย์สิน และโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของอดีตกรรมการสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2559 สร้างความเสียหายประมาณ 2,279 ล้านบาท ยังไม่นับพบการรายงานความผิดปกติของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจ สหกรณ์การเกษตร ที่มีแนวโน้มที่อาจจะขาดสภาพคล่องและแนวโน้มส่อไปในทางการทุจริตอีกจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้

เปิดกลโกงทุจริตสหกรณ์อดีต-ปัจจุบัน

ที่ผ่านมามักจะใช้กลโกงด้วยวิธีถอนเงินสดออกจากบัญชี บันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง ปล่อยสินเชื่อผิดระเบียบ โดยมุ่งเป้าไปที่สมาชิกที่ไม่ค่อยอัพเดตข้อมูล หรือใช้วิธีดูลูกหนี้ไม่มีการถือหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์ บางรายอนุมัติหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่ครอบคลุมกับมูลหนี้ บางรายเป็นการค้ำประกันเงินกู้ด้วยบุคคล รวมทั้งลูกหนี้ชำระหนี้ไม่เป็นไปตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญากู้ โดยอาศัยเจาะหัวใจหลัก คือความบกพร่อง ละเลย “การตรวจสอบบัญชี”

ขณะที่กรณีล่าสุด ประเด็นอื้อฉาวของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกถอนเงินและบันทึกข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากเท็จ โดยผู้ต้องสงสัยที่ทุจริตดังกล่าว เคยมีประวัติตรวจพบกระทำความผิดลักษณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ได้รับการลงโทษ และไม่มีการตรวจสอบซ้ำ

จนกระทั่งสหกรณ์กระทรวงเกษตรฯ “นำระบบออนไลน์ (Application) มาใช้” ทำให้สมาชิกสามารถตรวจสอบบัญชีได้จนพบความผิดปกติ ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์ผู้เสียหายที่ถูกถอนเงินออกจากบัญชีจำนวนมาก โดยบางรายชี้แจงว่าบัญชีถูกถอนตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 40 ครั้ง ขณะที่บางรายถูกถอนจำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดที่ถูกถอน คือเดือนสิงหาคม 2564 รวมยอดที่ถูกถอนจำนวน 3.4 ล้านบาท อีกรายแจ้งว่าถูกถอนตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 7 มี.ค. 65 รวม 11 ครั้ง

ขอนายกฯลงนามเป็นคดีพิเศษ

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การทุจริตดังกล่าวสหกรณ์กระทรวงเกษตรฯถือเป็นความผิดร้ายแรง โดยเฉพาะกรรมการทั้งหมดเป็นข้าราชการกระทรวงจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด เบื้องต้นวันนี้ (6 เมษายน) พบผู้เสียหาย 85 ราย จำนวนเงิน 491 ล้านบาท ซึ่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (กตส.) เข้าไปร่วมกับกรรมการสหกรณ์ในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้ง 2 ราย

รวมทั้งประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้คดีนี้เข้าไปอยู่ในกฎหมาย ปปง.และ DSI เพื่อสามารถตรวจสอบเชิงลึก เรียกหลักฐานเอกสาร บัญชีและทรัพย์สินที่มีการโอนถ่ายหรือแอบแฝงไว้ในบัญชีผู้อื่น

รวมไปถึงขอฝากให้สหกรณ์ทั่วประเทศนำระบบเงินฝากเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชั่นที่ กสส. และ กตส. ได้ทำขึ้นเพื่อให้สมาชิกผู้ฝากเงินสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของแต่ละคนได้ตลอดเวลา (Real Time) กรณีที่สหกรณ์ใดประวิงเวลาหรือไม่ดำเนินการตามนี้ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าส่อกระทำการทุจริตหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฝากสมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนให้สหกรณ์ของตัวเองเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชั่นดังกล่าว

โดยระหว่างนี้จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อลงนามให้เรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ และส่งมอบหลักฐานเส้นทางการเงิน เส้นทางทรัพย์สิน ทั้งในอดีตหรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายซื้อของ แต่บางรายการเปิดเผยไม่ได้เพราะอาจกระทบกับหลักฐาน ดังนั้น ขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตว่า ควรมามอบตัวและคืนทรัพย์สินที่มีการยักยอกไปเพื่อบรรเทาโทษ

“การสืบทรัพย์จะใช้เวลาไม่มากที่จะนำมาคืนให้กับสมาชิกสหกรณ์ ส่วนผู้กระทำผิดนั้นขณะนี้ได้รับรายงานว่าบางคนหนีไปประเทศ สปป.ลาว บางคนหนีไปประเทศเวียดนาม ก็ขอฝากไปถึงทั้งสองคนว่าให้กลับมามอบตัวเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะขณะนี้การกระทำของทั้งสองคนทำให้ครอบครัวเดือดร้อน”

แก้ปัญหาแบบล้อมคอก?

นางสาวมนัญญากล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซาก ต่อไปนี้สหกรณ์ใดก็แล้วแต่ ไม่ทำบัญชีส่ง หรือสหกรณ์ไหนที่ยังไม่ได้ทำ ต้องเข้าไปเช็กทันที หากขาดการรายงานให้ถือว่ามีพิรุธ เรื่องนี้น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่า ทำไมกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงต้องมีกฎหมายที่เข้มแข็งในการดูแลสหกรณ์ทั้งหมด

เพราะแม้ว่าสหกรณ์จะเป็นนิติบุคคลแต่การเข้าไปตรวจสอบถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะเห็นว่าเมื่อกรมเข้าไปดำเนินการ กรรมการสหกรณ์แต่ละแห่งมักแสดงความไม่พอใจ ทั้งที่ควรจะยินดีเปิดทางให้กรมสอบ เป็นการแสดงถึงการบริหารงานของสหกรณ์ที่โปร่งใสสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก

ฉะนั้น กรณีการทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯครั้งนี้แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลที่ทุจริต แต่ยอมรับว่ายิ่งสะท้อนให้เห็น “การบริหารจัดการยังมีช่องโหว่” ต้องมาหารือกันทั้งระบบ

จี้โยกย้ายหน่วยงานไปกระทรวงการคลัง

ประเด็นการเสนอให้มีการยุบ โยกย้าย หรือยกเลิก หน่วยงานสหกรณ์ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ไปอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลังนั้น

“ได้รับคำถามนี้บ่อยครั้ง ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า สหกรณ์คือนิติบุคคล การฝาก ถอน ออม ทั้งหมดล้วนอยู่ที่ความสมัครใจ ความซื่อสัตย์ จรรยาบรรณของคนบริหารจัดการจะเป็นตัวตั้ง เพราะแม้แต่เอกชนเองก็ยังพบการทุจริตเช่นกัน ดังนั้น หากถามเช่นนี้ในฐานะรัฐมนตรีก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะเป็นเรื่องคาบเกี่ยวตัวบุคคลและนโยบาย” นางสาวมนัญญากล่าว

ทางด้านนายประกอบ พงศ์เผ่า รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบผู้เสียหาย 85 ราย วงเงิน 491 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มเติม เนื่องจากยังตรวจสอบไม่ครบ 100% ดังนั้น ขอให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯทุกท่าน เร่งแจ้งรายชื่อหรือตรวจสอบทรัพย์สินของตนภายในวันที่ 8 เม.ย.นี้ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ครอบคลุมทั้งหมด

ส่วนตัวแทนกรรมการสหกรณ์ นางอัญชนา ตราโช รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตร กล่าวว่า สหกรณ์มีทุนเรือนหุ้น 1,574 ล้านบาท เงินฝากของสมาชิกออมทรัพย์ 1,600 กว่าล้านบาท ทุนสำรอง 151 ล้านบาท และเงินลงทุน 650 ล้านบาท สหกรณ์พร้อมที่จะนำเอาเงินลงทุน 650 ล้านบาทมาสำรองเพื่อแก้ไขความเสียหายดังกล่าว บรรเทาความเดือดร้อนสมาชิกที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ยืนยันว่ายังมีความมั่นคงทางการเงินในการให้บริการแก่สมาชิก ส่วนการดำเนินคดีจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ขอให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป