ลุ้นเงินกู้ “กองทุนน้ำมันฯ” ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน ทัน มิ.ย. จ่อเลิกอุ้มดีเซล

น้ำมัน

จ่อเลิกอุ้มดีเซล 30 บาท/ลิตร ดีเดย์ 1 พ.ค. ลุ้นแบงก์จ่ายเงินกู้เข้า “กองทุนน้ำมันฯ” ก้อนแรก 2 หมื่นล้านทัน มิ.ย. นี้ ชี้เหตุราคาขายปลีกน้ำมันไม่ลด หลังน้ำมันดิบตลาดโลกต่ำ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ต้องเก็บเงินคืนเข้ากองทุน เตรียมเขย่าแผนรอบรับวิกฤตโลก 3 ปี

วันที่ 10 เมษายน 2565 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหาแหล่งเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศ ว่าปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 3 เม.ย.2565 กองทุนติดลบ 42,407 ล้านบาท ติดลบ 42,407 ล้านบาท มีกระแสเงินสด (Cash flow) ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

แต่มั่นใจว่าภายใน 30 เม.ย.นี้ จะมีสถาบันการเงินยื่นข้อเสนอปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องมายังกองทุนแน่นอน และคาดว่าจะมีเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เข้าบัญชีกองทุนในเดือนมิ.ย.2565 ก้อนที่ 2 จะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 1 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดขณะนี้กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจัดทำตัวเลขขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรา 6 ว่าด้วยเรื่องของกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ตาม (2) ระบุเงินอุดหนุนที่รัฐบาลอาจจัดสรรให้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น

ตามที่ก่อนหน้านี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การสนับสนุนกองทุน เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยให้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุน

อย่างไรก็ตาม ยังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการศึกษาทิศทางราคาน้ำมันเป็นไปได้ทั้งขึ้นและลงไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หลังจากวันที่ 30 เม.ย.ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น กองทุนจะลดการอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลด้วยการปรับขึ้นแบบขั้นบันได แต่จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันตลาดโลก

“ปัจจุบันรัฐอุดหนุนดีเซล 8.90 บาท/ลิตร หากรัฐไม่ตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ราคาขายปลีกดีเซลจะอยู่ที่ 38 บาท/ลิตร ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุดมีมติให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาดีเซลปรับขึ้นครึ่งหนึ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2565 หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้น กองทุนจะลดการอุดหนุนดีเซลลงครึ่งหนึ่งเหลือ 4 บาท ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลจะอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 4 บาท จากปัจจุบันไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่รัฐจะไม่ปรับขึ้นครั้งเดียว 4 บาท โดยจะทยอยปรับขึ้นทีละสเต็ปไม่ให้กระชาก รวมทั้งจะศึกษาการกำหนดระดับการตรึงราคาว่าควรจะอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร หรือควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32, 33 หรือ 35 บาท/ลิตรหรือไม่ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น”

ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็อยากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าราคาน้ำมันดีเซลในช่วงแรกอาจไม่ได้ลดลงจาก 30 บาท/ลิตรมากนัก หรือจะให้ลงมาที่ 25 บาท/ลิตรทันทีก็คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องเก็บเงินเข้ากองทุนไว้ใช้จ่ายในยามวิกฤต ซึ่งล่าสุดกองทุนมีเงินเข้าระบบเดือนละกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้ กองทุนน้ำมันติดลบดังกล่าว

ประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 3 บาท/ลิตรหรือไม่ จากเดิมเก็บที่ 5.99 บาท/ลิตร ซึ่งจะครบกำหนด 3 เดือนในวันที่ 20 พ.ค.2565 ภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนจะกลับมาสูง ดังนั้นขอเวลาติดตามและประเมินผลของการดำเนินมาตรการก่อนหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางที่เหมาะสมในระยะต่อไปอีกครั้ง

นอกจากนี้ กองทุนอยู่ระหว่างทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563-67 โดยได้หารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ หรือสศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลรอบด้านทั้งปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อราคาน้ำมันโดยใช้ฐานราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาท ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำมันทั้งภาคขนส่ง รถสาธารณะ รวมถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ภาระทางการคลัง และแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนแผนดังกล่าวอาจปรับเป็น 3 ปี จาก 5 ปี คาดว่าจะมีความชัดเจนและได้ข้อสรุปภายในเดือนก.ค.-ส.ค.นี้

ขณะเดียวกัน ยังศึกษาแนวทางลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอาจปล่อยให้ราคาขายปลีกเบนซินทุกชนิดปรับขึ้น/ลงสะท้อนต้นทุนจริง ยกเว้นน้ำมัน E20 และ E85 ที่ใช้สำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโค คาร์) ) รวมทั้งกองทุนจะบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลที่มีความถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และมีรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด