หอการค้า-ส.อ.ท.-สมาพันธ์ SME ค้านขึ้นค่าแรง 492 บาท หวั่นต้นทุนพุ่ง

3 องค์กรเอกชน ‘หอการค้า-ส.อ.ท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอี’ สกัดขึ้นค่าแรง 492 บาท/คน หวั่นกระทบต้นทุนผู้ผลิตสินค้าทั้งภายในประเทศและส่งออก ดันเงินเฟ้อกระฉูด

วันที่ 29 เมษายน 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีการพูดคุยอยู่ตอนนี้ ว่าอยากให้เพิ่มเป็น 492 บาท เป็นอัตราเดียวทั่วประเทศนั้น อาจจะดูว่าเพิ่มค่อนข้างเยอะ และแต่ละจังหวัดก็มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงหากปรับรวดเดียว ก็จะทำให้เพิ่มถึง 10-20% ทำให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาก็อาจจะมีปัญหาซ้ำเติมได้

“เห็นด้วยว่า ควรมี การปรับค่าแรงขึ่นต่ำ ให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยแนวทางที่ดีควรปรับไปตามกลไก ของคณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัด พิจารณา ในส่วนนี้ ให้เหมาะสม เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานในพื้นที่”

“จริงๆ แล้ว หากเพิ่มค่าแรงขึ้นมาก ก็จะไปวนเพิ่มที่ต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการ ทำให้ราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยไม่เพียงกระทบต่อสินค้าในประเทศเท่านั้น แต่จะไปกระทบต่อการส่งออกด้วย ซึ่งจะทำให้ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง “

ด้านนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การปรับขึ้นค่าแรงในอัตรา 492 บาทถือว่าสูงเกินไปแนวทางที่เหมาะสมควรจะให้คณะกรรมการไตรภาคีในแต่ละจังหวัดไปหารือกันถึงอัตราที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะแตกต่างกันตามภาระค่าของชีพของแต่ละพื้นที่

เช่น โรงงานในอยุธยาก็จะมีเรทหนึ่งส่วนโรงงานในพื้นที่อีอีซีก็จะมีอีกเรทหนึ่ง ตามอัตราค่าของชีพในแต่ละพื้นที่ หากคณะกรรมการไตรภาคีได้ข้อสรุปแล้วก็ควรเสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้นายจ้างลูกจ้างและภาคธุรกิจสามารถประคองธุรกิจอยู่รอดได้

“หากพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงเกินไปจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย มีผลกระทบกับการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนที่จะเปรียบเทียบอัตราค่าแรงของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าแรงแตกต่างกัน และการปรับขึ้นค่าแรงก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพราะค่าแรงที่สูงก็จะถูก บวกไปเป็นราคาสินค้าซึ่งก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นอีกอย่างนึง”

ด้านแหล่งข่าวจากภาคธุรกิจค้าปลีกและบริการรายใหญ่ กล่าวว่า กังวลว่าประเด็นเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงที่สูงมากเกินไปจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมของไทยและจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอาจจะย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME จ้างงานประมาณ 12 ล้านคน ในกลุ่ม SME รายย่อยประมาณ 2.6 ล้านราย, SME รายย่อมประมาณ 400,000 ราย และ SME รายกลางประมาณ 44,000 ราย

“การปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจาก SME ภาคบริการยังไม่ฟื้นตัว อาทิ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจกลางคืน ยังได้รับผลกระทบระยะยาว และจำนวนมากกลายเป็น NPLs โดยเฉพาะ SME รายย่อย ส่วน SME ภาคการผลิต ธุรกิจเกษตร การค้า และบริการ ต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ค่าครองชีพสูงขึ้น พลังงานปรับตัวขึ้น ปุ๋ย อาหารสัตว์ เหล็ก “

นายแสงชัย เสนอว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรทยอยปรับขึ้น และดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีองค์ความรู้ ทักษะเพิ่มมากขึ้น และเน้นการ up skills หรือทักษะอนาคต ทักษะที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

พร้อมกันนี้มภาครัฐ ควรมีมาตรการในการประคองสถานการณ์พลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ ค่าครองชีพสูงให้อยู่ในระดับปกติ อาทิ มาตรการเชิงรุกเจรจาประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อแสวงหาความร่วมมือ ลดผลกระทบด้านราคา มาตรการคนละครึ่งภาคแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานรายวัน แรงงานนอกระบบ ช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพ เป็นต้น

“ปรับขึ้นค่าแรงสำคัญ แต่มาตรการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แรงงานว่างงานสำคัญมาก เพราะสภาพปัจจุบันมีแรงงานว่างงานจำนวนนับล้านราย รวมทั้งจับคู่งานให้คนว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ เป็นต้น เพื่อลดภาระปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม”

ด้านยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าหากปรับขึ้น 492 บาททั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจจะเจ็บ ตายกันอีกมาก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งหากจำเป็นต้องปรับขึ้นจริงๆ เรทสูงสุด ไม่ควรเกิน 430 บาท และอาจจะไม่ ใช้ rate เดียวกันทั่วประเทศก็ได้ เพราะ ทรัพยากร แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จ้างแรงงาน ประมาณ 3แสนกว่าคน ไม่รวมสิ่งทอ ไม่รวมธุรกิจประกอบ เช่น รง.พิมพ์, ปัก, ซิป, กระดุม, ด้ายเย็บ, ป้ายเสื้อ, ถุง, และอื่นๆ

ก่อนหน้านี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาทมีโอกาสการปรับขึ้นค่อนข้างยาก เพราะเป็นการปรับขึ้นค่าแรง 10-20% จากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำนั้นอยู่ที่ 336 บาท ถือว่าสูงมาก

ทั้งนี้ หากจะมีการปรับขึ้น ควรจะปรับขึ้น 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มองแบบนั้น และหากจะปรับในอัตราที่สูงจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และจะเป็นการเร่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น และการปลดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ร้านอาหารที่มีแรงงานไม่มาก

“การปรับขึ้นค่าแรงยังจำเป็นที่จะต้องประชุมไตรภาคีของแต่ละจังหวัดระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงและให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น“

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ความคาดหวังของแรงงานในการปรับขึ้นค่าแรง ควรมีการปรับขึ้นตามค่าของชีพ รองลงมามองว่าควรมีการปรับขึ้นตามความสามารถของนายจ้าง ตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง ตามความสามารถของแรงงานและ ตามความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม แรงงานกังวลว่าผลจากการขึ้นค่าแรง ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการในการดูแลราคาสินค้าคู่ขนานไปด้วย